หนี้ครัวเรือนไทย สูงต่อเนื่อง สะท้อนการเงินอ่อนแอ ประชาชนยังต้องแคร์เงินกู้

หนี้ครัวเรือนไทย สูงต่อ สะท้อนการเงินอ่อนแอ ประชาชนยังต้องแคร์เงินกู้

ข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดของ ธปท. ชี้ว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในปี 64 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.58 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 3.9% ใกล้เคียงกับ 4.0% ในปี 2563 แต่เมื่อเทียบกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 64 ยังคงเติบโตช้า ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 64 ยังคงขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.1% จากระดับ 89.7% ในปี 63

สำหรับภาพรวมโครงสร้างหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นปี 64 หนี้ส่วนใหญ่ของครัวเรือน 3 อันดับแรก ยังคงเป็นเงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย (34.5%) เงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจ (18.1%) และเงินกู้เพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ (12.4%)

โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือน มีการพึ่งพาบริการสินเชื่อที่ไม่ต้องใช้หลักประกันในการกู้ยืม ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องและแก้ไขปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจและรายได้ของภาคครัวเรือนในหลายๆ ส่วน ยังคงไม่ฟื้นตัวขึ้นจากโควิด-19 ที่ลากยาวยืดเยื้อ

ในส่วนของข้อมูลสถิติในระดับครัวเรือน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนอ่อนแอลง ขณะที่ยังมีครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังอยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน ตอกย้ำว่าฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและประชาชนรายย่อย ยังคงมีความอ่อนไหวต่อสภาวะผันผวนและไม่แน่นอนของเส้นทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยที่อาจเริ่มขยับขึ้นในอนาคต

สำหรับในปี 65 คาดว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยจะยังคงขยับขึ้นต่อเนื่อง แต่เมื่อเทียบกับมูลค่าเศรษฐกิจที่วัดจาก Nominal GDP ที่เติบโตสูงตามภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอาจชะลอลงมาอยู่ที่กรอบ 86.5-88.5% ต่อจีดีพี

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้ครัวเรือนดังกล่าวยังคงสูงกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด และเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันการบริโภคของครัวเรือนและเศรษฐกิจในภาพรวม