How To เลือกบริโภค น้ำดื่ม-น้ำแข็ง ให้ปลอดภัย ช่วงหน้าร้อน

How To เลือกบริโภค น้ำดื่ม-น้ำแข็ง ให้ปลอดภัย ช่วงหน้าร้อน
How To เลือกบริโภค น้ำดื่ม-น้ำแข็ง ให้ปลอดภัย ช่วงหน้าร้อน

How To เลือกบริโภค น้ำดื่ม-น้ำแข็ง ให้ปลอดภัย ช่วงหน้าร้อน 

ขณะนี้ทั่วทุกภาคของไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน เพื่อช่วยดับกระหายและคลายร้อน น้ำดื่มและน้ำแข็ง จึงกลายเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้มีการกำกับดูแลและเฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง และขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังการเลือกซื้อน้ำดื่มและน้ำแข็ง ในช่วงหน้าร้อนเป็นพิเศษเพื่อสุขภาพ

มาตรฐานความปลอดภัยของน้ำดื่มและน้ำแข็ง

ผู้ผลิตน้ำดื่มและน้ำแข็ง ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) ซึ่งควบคุมตั้งแต่สถานที่ผลิต เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต การทำความสะอาด การบำรุงรักษา กระบวนการผลิต การสุขาภิบาล และสุขลักษณะส่วนบุคคล

โดยน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทต้องมีคุณภาพมาตรฐาน ส่วนน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำแข็งต้องผ่านการปรับสภาพให้ได้มาตรฐานเทียบเท่าน้ำบริโภคก่อนเข้ากระบวนการผลิตน้ำแข็ง ซึ่งต้องมีคุณภาพมาตรฐานเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุปิดสนิทและน้ำแข็ง

การเลือกซื้อน้ำดื่มบรรจุขวด/แก้ว 

ควรเลือกซื้อน้ำดื่มที่บรรจุในภาชนะที่สะอาดและปิดสนิท ไม่รั่วซึมหรือมีรอยสกปรก ไม่มีร่องรอยการเปิดใช้ ลักษณะของน้ำที่บรรจุต้องใสสะอาด ไม่มีตะกอน ไม่มีสีหรือกลิ่นรสที่ผิดปกติ โดยร้านค้าที่จำหน่ายต้องไม่วางน้ำดื่มตากแดด และไม่เก็บน้ำดื่มในที่ร้อน

ข้อควรรู้เกี่ยวกับน้ำแข็ง 

ผู้ผลิตและผู้ขนส่ง ต้องมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนซ้ำทั้งในระหว่างการผลิต ลำเลียง และขนส่ง ดังนี้

– อุปกรณ์การผลิต บริเวณผลิต การบรรจุ ลำเลียง และการขนส่ง ต้องมีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ

– ภาชนะบรรจุน้ำแข็งและกระสอบบรรจุน้ำแข็งต้องสะอาด มีการล้าง ฆ่าเชื้อ ผึ่งให้แห้ง และเก็บรักษาอย่างถูกสุขลักษณะ

– มีการป้องกันการปนเปื้อนจากผู้ปฏิบัติงาน โดยต้องแต่งกายสะอาด สวมผ้ากันเปื้อน สวมหมวกคลุมผม สวมผ้าปิดปาก ล้างมือทุกครั้งก่อนเริ่มปฏิบัติงาน สวมรองเท้าที่สะอาด และควรเป็นรองเท้าคนละคู่กับรองเท้าที่ปนเปื้อนจากนอกบริเวณขนส่ง ไม่สูบบุหรี่หรือมีพฤติกรรมอื่นๆ ที่น่ารังเกียจขณะทำการขนส่ง และที่สำคัญ ห้ามใช้เท้าสัมผัสน้ำแข็ง

ผู้จำหน่าย ต้องเก็บน้ำแข็งไว้ในภาชนะบรรจุที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด ไม่มีอาหารอื่นมาปะปนกับน้ำแข็งที่ตักขาย

ผู้บริโภค ก่อนซื้อน้ำแข็งบรรจุถุง ควรพิจารณาว่าถุงที่ใช้บรรจุสะอาด ปิดผนึกแน่นหนา ไม่ฉีกขาด และน้ำแข็งต้องใสสะอาด ไม่มีคราบ สี หรือกลิ่นที่ผิดปกติ (ถ้ามี)เลขสารบบอาหารในเครื่องหมาย อย. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิเป็นกรัมหรือกิโลกรัม และต้องมีข้อความว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน

สำหรับน้ำแข็งหลอดที่ตักแบ่งขายหรือเสิร์ฟตามร้านอาหาร จะเป็นน้ำแข็งที่จำหน่ายโดยไม่ต้องมีฉลาก ดังนั้น ผู้บริโภคควรสังเกตลักษณะของน้ำแข็ง สถานที่เก็บรักษา ภาชนะที่บรรจุต้องสะอาด ไม่มีการปนเปื้อน หากเป็นน้ำแข็งซองควรซื้อมาบริโภคทั้งก้อน โดยน้ำมาล้างน้ำให้สะอาดก่อนทุบหรือบด และควรใส่ในภาชนะบรรจุที่สะอาด

ทั้งนี้ ขอให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากแสดงรายละเอียดครบถ้วน ชัดเจน เช่น ชื่ออาหาร ชื่อที่ตั้ง สถานที่ผลิต เครื่องหมาย อย. พร้อมเลขสารบบอาหาร 13 หลัก วันเดือนปีผลิตหรือวันหมดอายุ ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต เพื่อการบริโภคน้ำดื่มและน้ำแข็งอย่างปลอดภัย

ที่มา FDA Thai