ไขข้อข้องใจ ธนบัตรพอลิเมอร์ ชนิดราคา 20 บาท แบบใหม่ ดีกว่าเดิมยังไง

ไขข้อข้องใจ ธนบัตรพอลิเมอร์ ชนิดราคา 20 บาท แบบใหม่ ดีกว่าเดิมยังไง

หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย ออกใช้ “ธนบัตรพอลิเมอร์” ชนิดราคา 20 บาท วันแรก 24 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยสามารถแลกได้ที่ธนาคารทั่วประเทศ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง

เชื่อว่าหลายคนมีข้อสงสัย ว่าธนบัตรพอลิเมอร์คืออะไร แตกต่างจากธนบัตรเดิมอย่างไร และที่สำคัญ ใช้แล้วดีกว่าเดิมหรือไม่ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับธนบัตรออกใหม่ดังกล่าว โดยละเอียด ดังนี้

 

ทำไมถึงต้องเปลี่ยนวัสดุเป็นพอลิเมอร์ 

ธนบัตรที่ผลิตด้วยกระดาษ โดยเฉพาะชนิดที่หมุนเวียนเปลี่ยนมือสูง สกปรกง่าย มีอายุการใช้งานสั้น เพียง 2-3 ปี และเก่าเร็ว

ธนบัตรที่ผลิตด้วยพอลิเมอร์ จะช่วยให้ธนบัตรมีความทนทาน สะอาด และสามารถทำความสะอาดได้ง่าย คาดว่ามีอายุการใช้งานนานขึ้น ประมาณ 5 ปี

มีประเทศไหนใช้ธนบัตรพอลิเมอร์บ้าง 

ปัจจุบันมีมากกว่า 30 ประเทศ ใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ โดยออกใช้หลายชนิดราคา เช่น แคนาดา ชิลี ซาอุดีอาระเบีย สกอตแลนด์ อังกฤษ มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม

อากาศร้อน และพฤติกรรมการใช้ธนบัตรของคนไทย ส่งผลต่ออายุการใช้งานของธนบัตรพอลิเมอร์อย่างไร 

จากการศึกษาข้อมูลของประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับประเทศไทย เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ พบว่า ธนบัตรพอลิเมอร์มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าธนบัตรกระดาษ

ธนบัตรพอลิเมอร์ แบบใหม่ดีกว่าธนบัตรพอลิเมอร์แบบเดิม ที่เคยออกใช้กับชนิดราคา 50 อย่างไร 

เนื่องจากธนบัตรพอลิเมอร์ 50 บาทเดิม เป็นยุคเริ่มแรกของเทคโนโลยีพอลิเมอร์ ทำให้ความทนทานไม่ดีเท่าที่ควร แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตวัสดุการพิมพ์ และหมึกพิมพ์มีพัฒนาการก้าวหน้าไปมาก ทำให้ธนบัตรพอลิเมอร์มีความทนทานต่อสภาพการใช้งานต่างๆ ทนความร้อนได้ดีมากกว่าเดิม สามารถแก้ปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้นได้ เช่น หมึกหลุดล่อน หดตัว โดนความร้อนไม่ได้ ละลาย พับแล้วสีลอก เป็นรอยพับ ยันย่นง่าย

ธนบัตรพอลิเมอร์ สามารถปลอมได้ง่ายหรือไม่ และมีกลุ่มดาวยูไรอัน (EURion) หรือไม่ 

ธนบัตรพอลิเมอร์มี EURion เป็นหนึ่งในลักษณะต่อต้านการปลอมแปลง เช่นเดียวกับธนบัตรหมุนเวียนแบบปัจจุบัน และยังมีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงเพิ่มเติมจากธนบัตรกระดาษ เช่น ช่องใส และหมึกพิมพ์พิเศษสีเหลืองแดง

แนะนำจุดสังเกตธนบัตร 

ธนบัตรพอลิเมอร์ มีการใช้เทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงที่ทันสมัย และมีมาตรฐานขั้นสูงต่อการปลอมแปลง ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบได้ด้วยวิธีการ สัมผัส ยกส่อง พลิกเอียง

ธนบัตรพอลิเมอร์ ใช้กับเครื่องรับเงินอัตโนมัติ เช่น ตู้ซื้อบัตรโดยสารรถไฟฟ้า ตู้ซื้อสินค้าได้หรือไม่ 

แบงก์ชาติ ได้แจ้งหน่วยงานที่ดูแลเครื่องรับเงินดังกล่าวให้ทราบล่วงหน้า และได้ประสานงานเพื่อเตรียมการรองรับให้ประชาชนสามารถใช้ธนบัตรใหม่ได้อย่างกว้างขวาง

ธนบัตรพอลิเมอร์ทำมาจากพลาสติก ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ต่างจากธนบัตรกระดาษเดิมอย่างไร และแบงก์ชาติมีการควบคุมมลพิษอย่างไร ในการทำลายธนบัตรพอลิเมอร์ 

จากการศึกษาคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของต่างประเทศ เช่น แคนาดา และอังกฤษ การใช้ทรัพยากรและพลังงาน รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งวงจรชีวิตของธนบัตร (การผลิต การขนส่ง การกระจาย และการทำลาย) มีการผลิตทดแทนที่ลดลง เนื่องจาก ธนบัตรพอลิเมอร์ มีอายุการใช้งานยาวนานกว่าธนบัตรกระดาษ 2.5 เท่า

การใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าธนบัตรกระดาษประมาณ 15% โดยแบงก์ชาติ จะเผาทำลายธนบัตรพอลิเมอร์ ภายใต้การควบคุมและบำบัดอากาศเสียก่อนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ โดยโรงงานที่ได้รับมาตรฐานสากล

แบงก์ชาติมีแนวโน้ม จะลดการพิมพ์ธนบัตรต่อปีลงหรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับโลกการเงินดิจิทัล 

แบงก์ชาติ ให้ความสำคัญทั้งด้านดิจิทัลและธนบัตร จะเห็นได้ว่า แม้มีการส่งเสริมการใช้พร้อมเพย์ในช่วงที่ผ่านมา แต่ประชาชนบางกลุ่มยังมีความต้องการใช้ธนบัตรอยู่ จึงต้องดำเนินการไปควบคู่กัน

แบงก์ชาติจึงพยายาม ทำให้การใช้ธนบัตรสะดวกสบายขึ้น ปลอดภัยขึ้น และใช้ได้นานขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้ธนบัตรทนทานมากขึ้น จึงทำให้การผลิตธนบัตรต่อปีลดลงจากกว่า 2,000 ล้านฉบับต่อปี เหลือ 1,800 ล้านฉบับต่อปี โดยธนบัตร 20 บาท มีประมาณ 1 ใน 3 ของธนบัตรที่หมุนเวียนทั้งหมด

จะยกเลิกการใช้ธนบัตร 20 บาทเดิมหรือไม่ 

จะไม่มีการยกเลิกธนบัตร 20 บาทแบบเดิม โดยจะใช้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเก่า และถูกส่งกลับไปทำลายตามวงจรปกติ ในปัจจุบันมีธนบัตร 20 บาทเดิมประมาณกว่า 30% ของปริมาณธนบัตรทั้งหมดที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ

ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นหรือไม่ 

ด้วยวัสดุที่แตกต่างจากเดิม ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อฉบับเพิ่มขึ้นประมาณ 30% แต่ธนบัตรชนิดดังกล่าวสามารถใช้ได้นานขึ้น ทำให้การทำลายธนบัตรลดน้อยลง และจำนวนครั้งที่ผลิตน้อยลง ซึ่งจะช่วยเรื่องต้นทุนรวมในระยะยาว และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย

จะผลิตธนบัตรพอลิเมอร์ชนิดราคาอื่นด้วยหรือไม่

ในปัจจุบัน ใช้เทคโนโลยีนี้กับธนบัตร 20 บาท เพียงชนิดเดียวก่อน หลังจากนี้ จะพิจารณาว่าตอบโจทย์การใช้งานของประชาชนหรือไม่ ทั้งในแง่ความพึงพอใจของประชาชน ความสะอาด คุณภาพ และความทนทาน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนพิจารณานำไปใช้กับธนบัตรชนิดราคาอื่นๆ ต่อไป