จุรินทร์ สั่ง ดูต้นทุนอาหารสัตว์ ลดผลกระทบ จากสงคราม รัสเซีย-ยูเครน

จุรินทร์ สั่ง ดูต้นทุนอาหารสัตว์ ลดผลกระทบ จากสงคราม รัสเซีย-ยูเครน
จุรินทร์ สั่ง ดูต้นทุนอาหารสัตว์ ลดผลกระทบ จากสงคราม รัสเซีย-ยูเครน

จุรินทร์ สั่ง พาณิชย์-เกษตร เร่งดูต้นทุนอาหารสัตว์ ลดผลกระทบ สงคราม รัสเซีย-ยูเครน

วันที่ 14 มีนาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน รายงานราคาสินค้าทุกวัน โดยเฉพาะสินค้าที่สำคัญต่อการอุปโภคบริโภค 18 หมวด

ล่าสุด สินค้าส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด ราคาทรงตัว โดยเฉพาะหมวดอาหารสด ราคาหมูเนื้อแดง ทรงตัวเป็นสัปดาห์ ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศ ประมาณ 150 บาท/กก. ที่ห้างสำคัญ เช่น แม็คโคร โลตัส และบิ๊กซี ที่เป็นราคานำตลาดวานนี้ (13 มี.ค. 65) หมูเนื้อแดงต่ำสุดราคา 134 บาท/กก. ราคาไก่ ยังทรงตัว และเมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เดือนนี้ราคาปรับลดลง

ราคาไข่ไก่ เฉลี่ยอยู่ที่ราคา 3.46 บาท/ฟอง สำหรับไข่ไก่เบอร์ 3 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไม่มีการปรับราคาขึ้น ซึ่งเป็นการปรับกระบวนการทางการตลาดภายในของบริษัทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่ราคาปลีกยังอยู่ที่ซองละ 6 บาท

หมวดอาหารกระป๋อง ยังไม่อนุญาตให้ปรับขึ้นราคา แต่ต้องยอมรับความจริงว่าต้นทุนกระป๋องสูงขึ้น เพราะราคาเหล็กสูงขึ้น 40-45% โดยประมาณ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นของราคาเหล็กในตลาดโลก มีผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ข้าวสารถุง ราคาทรงตัว ซอสปรุงรส ราคาทรงตัว น้ำอัดลม ไม่มีการขึ้นราคา นมและผลิตภัณฑ์จากนม มี 1 ยี่ห้อที่ขออนุญาตปรับขึ้น แต่ไม่อนุญาตให้ปรับขึ้น หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่มีการปรับราคาขึ้น แต่มีการจัดโปรโมชั่นลดราคาโดยต่อเนื่อง และหมวดซักล้าง ไม่มีการปรับราคาขึ้น เป็นต้น

สำหรับอาหารสัตว์ต้องยอมรับว่าต้นทุนสูงขึ้นจริง ต้นทุนขึ้นอยู่กับส่วนผสม 3 ส่วนหลัก 1. ข้าวสาลี 2. ข้าวโพด 3. ปลาป่น ซึ่งข้าวโพดราคาสูงขึ้น เมื่อก่อนกิโลกรัมละ 6-8 บาท ขณะนี้ 11-12 บาท/กก. เกษตรกรพอใจ แต่กระทบต้นทุนอาหารสัตว์ ส่วนปศุสัตว์ไม่ค่อยพอใจ เพราะต้นทุนการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อราคาเนื้อสัตว์

ข้าวสาลี ราคาปรับสูงขึ้นเยอะ เพราะแหล่งผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ของโลกคือ ยูเครน อยู่ในภาวะสงครามส่งผลต่อปริมาณในตลาดโลก ต้องมีการหาทางออกร่วมกันโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ เป็นตัวหลักเพราะดูต้นทุนการผลิต ได้มอบหมายท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์กับปลัดกระทรวงเกษตรฯ เร่งหารือร่วมกัน ในการเข้าไปดูข้อเท็จจริงทั้งหมดในเรื่องอาหารสัตว์ ลึกถึงต้นทุนและมาตรการต่างๆ ที่ควรนำมาใช้ให้ต้นทุนการผลิตด้านปศุสัตว์ปรับลงมาได้

รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลทุกฝ่ายทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค คิดว่าในภาวะนี้ทุกฝ่ายเริ่มเข้าใจและเห็นภาพว่าเป็นภาวะสงคราม แม้จะไม่เกิดบ้านเรา แต่มีผลกระทบไปทั่วโลก เห็นทันตาว่ากระทบอะไรบ้าง รัฐบาลต้องมาดูในสิ่งที่คิดว่าเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย

ที่ผ่านมาได้ทำงานมาโดยต่อเนื่อง ทั้งพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน ซึ่งใช้งบประมาณน้อยมากแค่บริหารจัดการ อาศัยความร่วมมือ ซึ่งผู้ประกอบการต้องลดกำไรบางส่วน ซึ่งทำได้ระดับหนึ่ง ถ้าทำตลอดไปผู้ประกอบการก็อยู่ไม่ได้ ของก็จะขาดเพราะการผลิตถูกยกเลิก ต้องมาดูว่าความพอดีอยู่ตรงไหนและขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ให้อยู่ได้ด้วยกันทั้ง 3 ฝ่าย

ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค อย่างเดือดร้อนน้อยที่สุด และได้ประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด จะพิจารณาเป็นหมวดสินค้าและเป็นรายๆ ไป โดยพิจารณาจากข้อมูลและข้อเท็จจริงและเอกสารที่เป็นข้อเท็จจริงมีผลตามกฎหมาย เชื่อว่ามีทั้งราคาปรับขึ้น ทรงตัว และลดลง