ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
พร้อมรับ โรคประจำถิ่น อภัยภูเบศร แนะประชาชนใช้สมุนไพรรักษาโควิด
ภายหลังกระทรวงสาธารณสุข ประกาศให้การดูแลผู้ป่วยโควิดแบบโรคประจำถิ่น (Endemic) ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 โดยรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรืออาการป่วยไม่มาก (Asymptomatic COVID-19) โดยแยกสังเกตตัวเองที่บ้าน (Self-observation)
และผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง และแพทย์อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจร อย่างไรก็ตาม ไม่ให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจรร่วมกันกับยาต้านไวรัส เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงจากยา
พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผอ.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิดปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ความรุนแรงลดลงจากเดิม ทำให้ สธ. มีการปรับเกณฑ์การรักษาผู้ติดเชื้อ โดยแบ่งผู้ป่วยที่มีผลตรวจ ATK บวก เป็น 4 กรณีตามความรุนแรงของอาการ ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว คือ ติดเชื้อไม่แสดงอาการหรือมีอาการไม่มาก จะให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก
คือ รับยาแล้วกลับไปกักตัวที่บ้าน โดยยาที่จ่ายคือ ฟ้าทะลายโจร และ ยาบรรเทาอาการอื่นๆ เช่น ไอ เสมหะ น้ำมูก ตามที่แพทย์พิจารณา และจะไม่ได้จ่ายร่วมกับยาต้านไวรัสหรือฟาวิพิราเวียร์เนื่องจากอาจจะมีผลข้างเคียงได้ การเตรียมความรู้ให้ประชาชนเป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำให้ทั่วถึง
ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้มีการจัดทำข้อมูลตรงนี้เผยแพร่มาก่อนหน้านี้แล้ว รวมถึงในช่วงโอมิครอนก็ได้แนะนำสมุนไพรจำเป็นให้ประชาชนได้เตรียมมีติดบ้านไว้
ผอ.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า สำหรับการใช้สมุนไพร ที่อภัยภูเบศรได้นำเสนอข้อมูลแนะนำประชาชนให้เตรียมไว้ติดบ้านเพื่อรับมือกับสถานการณ์โอมิครอน 4 ชนิด ที่สำคัญ คือ “ฟ้าทะลายโจร” เป็นยาหลักควรมีติดบ้าน จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า ออกฤทธิ์ต่อเอนไซม์หลายชนิด ที่มีผลต่อการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิด-19 ป้องกันไม่ให้ไวรัสจับกับเซลล์ปอดได้
ฟ้าทะลายโจรมีประโยชน์ในหลายกลไก สำหรับผู้ติดเชื้อ ควรได้รับฟ้าทะลายโจร หรือสารแอนโดรกราโฟไลด์ 120-180 มิลลิกรัมต่อวัน ต่อเนื่องกัน 5 วัน และควรใช้ทันทีที่มีอาการแสดงของหวัด เช่น ไข้ เจ็บคอ ไอ
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ที่ทำการเก็บข้อมูลติดตามผลการใช้ยาในผู้ติดเชื้อโควิด จำนวน 330 ราย ที่ใช้วิธีการรักษาแบบ Home Isolation พบว่า ทั้ง 330 คน ได้รับยาฟ้าทะลายโจรแคปซูลอภัยภูเบศร ร่วมกับการใช้ยาบรรเทาอาการอื่นๆ พบว่า กว่า 90% อาการดีขึ้นหลังใช้ยาต่อเนื่อง และไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง
“สมุนไพรอีกชนิดที่ควรมี และมักจ่ายร่วมกันในผู้ป่วยโควิดที่โรงพยาบาล คือ ยามะขามป้อม ช่วยบรรเทาอาการไอ มีเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ สามารถจิบรูปแบบยาแก้ไอ หรือเม็ดอมแก้ไอได้บ่อยๆ และมีการศึกษาพบว่ายังช่วยเสริมการทำงานของภูมิคุ้มกันได้ รวมถึง กระชาย ขิง ที่ช่วยบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก มีส่วนช่วยในการเสริมภูมิคุ้มกัน ทำให้ปอดอุ่น รับประทานได้ทั้งรูปแบบอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาผง แคปซูล
แต่เนื่องจากเป็นยาที่ไปเพิ่มความร้อน จึงไม่ควรใช้ในคนที่มีไข้ตัวร้อน ในเด็กเล็กๆ ที่ติดเชื้อการใช้ยาทำได้ลำบากกว่าผู้ใหญ่ แนะนำให้ใช้ หอมแดง ช่วยบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก ลดน้ำมูก ช่วยให้จมูกโล่งขึ้น ทุบพอบุบให้เกิดกลิ่น ห่อผ้าขาวบางวางไว้ใกล้หมอนเพื่อสูดดมกลิ่น หรือกินเป็นอาหาร ต้มซุป หรือต้มน้ำ เพื่อสูดดมไอน้ำ ครั้งละ 15-30 นาที หรือจนหมดกลิ่นหอม ทำได้เรื่อยๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น” พญ.โศรยา กล่าว
สำหรับประชาชนที่ต้องการแนวทางในการดูแลสุขภาพ สามารถดาวน์โหลดคู่มือที่เคยเผยแพร่ไว้ได้จากลิงก์ https://drive.google.com/file/d/1penuIdr396i5fn2bkNtOBE2ARQfNAWbG/view?usp=sharing หรือโทรปรึกษาสายด่วนอภัยภูเบศร โทร. 037-211-289