โควิด มา ผ้าทอขายไม่ได้ มีหนี้เกือบล้าน แต่ผ่านมาได้ เพราะ…

โควิด มา ผ้าทอขายไม่ได้ มีหนี้เกือบล้าน แต่ผ่านมาได้ เพราะ…

จังหวัดเชียงใหม่ มีกลุ่มทอผ้ามากมายนับไม่ถ้วน ทั้งผ้าฝ้าย ผ้าไหม ส่วนมากเป็นผ้าทอมือ วิธีการก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก กลุ่มเป้าหมาย หรือกลุ่มลูกค้า มักจะเป็นกลุ่มเดียวกันคือกลุ่มข้าราชการ และนักท่องเที่ยว ไทยและต่างประเทศ เพราะฉะนั้น เวลามีเทศกาล งานออกร้านต่างๆ โดยเฉพาะโอท็อป เราจึงเห็นร้านขายผ้าทอมือเต็มไปหมดจนเลือกไม่ถูกว่าจะช่วยกันอุดหนุนร้านไหน

ในเมื่อ ‘เหมือนกัน’ แต่ละกลุ่มวิสาหกิจของชาวบ้านก็ต้องหา ‘จุดขาย’ ของตัวเอง ซี่งกลุ่มวิสาหกิจผ้าฝ้ายเชิงดอยบ้านสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า ความแตกต่างของผ้าทอที่นี่คือ ‘สี’ ที่ย้อมด้วยหินสีชมพูจากธรรมชาติ ที่มีคุณสมบัติติดทนนาน

ที่ผ่านมาชาวบ้านขายให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยว เพราะชุมชนเป็นเครือข่ายร่วมกับเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ ก็ทำให้ชาวบ้านพอมีรายได้จากการทอผ้าบ้าง แต่พอมาเกิดสถานการณ์โควิด รายได้จากการขายผ้าทอก็ลดลง จนกลายเป็นศูนย์ และย่ำแย่ถึงขั้นติดลบ มีหนี้สินเกือบล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นางสาวทัญกานร์ ยานะโส ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวอย่างหนักแน่นว่า ‘แม้กลุ่มของเราจะเป็นหนี้ แต่ชาวบ้านจะต้องรอด’ ซึ่งกระบวนการหลุดพ้นจากหนี้สิน คือ การยกระดับทักษะ ให้กับสมาชิกและคนในชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับโอกาสใหม่ๆ ที่จะมาถึงในอนาคตหลังสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลงไป ผ่านการทำโครงการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะฝีมือการทอผ้า

และเพิ่มโอกาสทางการตลาดของผู้ด้อยโอกาส ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วยความหวังว่าจะสามารถพลิก ‘วิกฤต’ เป็น ‘โอกาส’ ต่อเติมความหวังให้กับคนในชุมชนได้

เดิมทีปัญหาของกลุ่ม คือ ต้องซื้อวัตถุดิบโดยเฉพาะฝ้ายจากแหล่งอื่น เพราะในพื้นที่ผลิตไม่เพียงพอ การแก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมา คือ การส่งเสริมการปลูกเพื่อซื้อวัตถุดิบในพื้นที่ แต่การทำงานร่วมกับ กสศ. ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอย เรียนรู้ว่ากระบวนการมีส่วนร่วมนั้นสำคัญ จึงเริ่มต้นจากการสอบถามความต้องการในการพัฒนาตนเองของกลุ่มเป้าหมาย

ผลการรับฟังความคิดเห็นทำให้ทราบว่า กลุ่มคนที่ต้องการพัฒนาทักษะอาชีพ มี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่ทอผ้าไม่เป็นมาก่อนต้องการมาเรียนการทอผ้าพื้นฐาน เพื่อนำไปประกอบเป็นอาชีพเสริมในกรณีที่มีงานทำอยู่แล้ว และสร้างรายได้เพื่อความอยู่รอดในกลุ่มผู้ว่างงาน จึงนำไปสู่กิจกรรมอบรมให้ความรู้ในเรื่องของการปลูกฝ้าย ปลูกคราม ปั่นฝ้าย กลิ้งฝ้าย การย้อมคราม ย้อมหิน กลุ่มอีด

และกลุ่มที่สอง กลุ่มสมาชิกวิสาหกิจผ้าฝ้ายเชิงดอยเดิม (ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ) ที่ต้องการยกระดับฝีมือการทอผ้าจากการทอผ้าธรรมดาเป็นการทอแบบกี่ตะกอ และทอจกล้านนา โดยกลุ่มนี้จะต้องฝึกเทคนิคการปั่นฝ้าย 2 เส้น เทคนิคการทำเกลียวเส้นด้ายให้พอดี ซึ่งการอบรมให้ความรู้แต่ละกิจกรรมใช้เวลาประมาณ 3 วัน

หลังจบโครงการ กลุ่มเป้าหมายกลุ่มที่ 1 ที่ทอผ้าไม่เป็น ได้ทักษะอาชีพใหม่ๆ ได้มองเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น ขณะที่กลุ่มเป้าหมายที่ 2 สมาชิกกลุ่มทอผ้าฯ ได้พัฒนาฝีมือไปอีกระดับหนึ่ง ทั้งยังพบว่าหลายคนมีศักยภาพในการเป็นครูภูมิปัญญาด้านการทอผ้าด้วย นอกจากนี้ ยังเกิดกลุ่มผู้ปลูกคราม ปลูกฝ้าย

“ถ้ามองด้วยตาจะเห็นรอยยิ้มเห็นความสุขของการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ถ้ามองลึกลงไปเราเห็นความพยายามที่จะทำให้เกิดชิ้นงานขึ้นมา พอเขาทำได้ เขาก็จะมาบอกว่าทำได้แล้ว โดยเฉพาะคนพิการทางขาที่เมื่อก่อนอยู่บ้านเฉยๆ ไม่มีใครพูดคุยด้วย แต่พอเข้ามาฝึกทักษะอาชีพ แค่เขาอีดฝ้ายได้ เขาดีใจมาก มันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่สำหรับเขา เกิดเป็นความภาคภูมิใจและอิ่มเอมในหัวใจ”

อีกหนึ่งตัวอย่างของการพลิกโควิดเป็นโอกาส นางแสงเอ้ย นันต๊ะภูมิ อายุ 69 ปี เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้มีอาชีพทำตุง แต่พอเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่มีคนจ้าง จึงมาเริ่มหัดทอผ้า ผ่านมา 4 เดือน สามารถทอผ้าได้แล้ว 10 ผืน เป็นลายพื้นฐาน ขายได้ผืนละ 300 บาท เป็นรายได้ที่ดีมาก เพราะอยู่เฉยๆ ก็ไม่มีรายได้ แก่แล้วไม่มีคนจ้างงาน มาทอผ้าพอได้เลี้ยงตัวเอง

เช่นเดียวกับ นางไฝ จันทร์สม อายุ 56 ปี อาชีพเกษตรกร กลุ่มเป้าหมาย บอกว่า ในอดีตเคยรับจ้างทอผ้าบ้าง แต่ยิ่งแก่ตัวก็ยิ่งทำไม่ไหว การได้ฝึกทักษะการทอจกเหมาะกับคนแก่เพราะไม่ต้องใช้แรงเยอะ ตอนเรียนอาจจะยากหน่อย แต่พอเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ก็ไม่ยากแล้ว

“ตอนที่ทำยังไม่เก่งขายได้ประมาณ 500 บาทต่อผืน แต่พอฝีมือดีขึ้นก็ขายได้ประมาณผืนละ 1,000 บาท จากเมื่อก่อนกว่าจะทอได้แต่ละผืนใช้เวลาเกือบครึ่งเดือน และยังใช้แรงในการทอเยอะ ถ้าเมื่อก่อนคิดเป็นวันจะได้ประมาณวันละ 150 บาท แต่ตอนนี้ได้วันละประมาณ 200 บาท แต่เหนื่อยน้อยลงไม่ต้องใช้แรงเยอะ ถ้ามีแรงก็จะทอต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทอไม่ไหว” นางไฝ บอก

จากจุดที่ติดลบแทบมองไม่เห็นอนาคต เรื่องราวเหล่านี้จะไม่มีทางเป็นไปได้เลย หากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอย ไม่ลุกขึ้นมามองหาโอกาสท่ามกลางวิกฤต และพลิกบทบาทตัวเองขึ้นมาเป็นผู้สร้างโอกาสแทนที่จะปล่อยให้เวลาผ่านไปเฉยๆ แต่ถึงอย่างนั้นความสำเร็จก็ยังเป็นเรื่องยาก หากไม่ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะเทศบาลและ กศน. ซึ่งเข้ามาร่วมคิดร่วมทำตั้งแต่ต้น

“กลไกทีมโค้ชสำคัญมาก คอยแนะนำ เปิดประเด็น จุดไฟให้ทีมทำงานคิดต่อ เตือนเมื่อเห็นหนทางมืดมน ซึ่งกลไกนี้เอื้อต่อการทำงานของเรามาก เรามีประสบการณ์กับชุมชนแต่ไม่มีประสบการณ์กับกระบวนการ แต่โครงการนี้เราต้องคิดเอง หาความรู้เอง คิดกระบวนการและเป็นผู้เรียนรู้ไปกลุ่มเป้าหมายด้วย ได้ลงลึกในรายละเอียดมากขึ้น ไม่เหมือนที่ผ่านมา” นางสาวทัญกานร์ กล่าว

ถึงวันนี้ แม้ว่าก้าวแรกจะผ่านไปได้ด้วยดี แต่เพื่อความยั่งยืน บทบาทของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ในก้าวต่อไป ก็คือการทำการตลาด นางสาวทัญกานร์ บอกว่า หากไม่ทำการตลาดต่อการผลิตก็ไปไม่ได้ ดังนั้น ตอนนี้กำลังทำเรื่องตลาดกับบริษัทเอกชน 2 แห่งในการนำผลิตภัณฑ์ของเราไปขายต่อ และรับผ้าของเราไปผลิตเป็นเสื้อผ้า เชื่อว่ากลุ่มของเราไปต่อได้อย่างแน่นอน

ด้วยจุดเด่นของผ้าฝ้ายเชิงดอย ซึ่งเป็นผ้าย้อมหินสีจากธรรมชาติ ให้สีในโทนพาสเทล ได้แก่ สีเทาอมฟ้า สีชมพู ม่วงอมขาว และใช้เทคนิคการทอสี่ตะกอ หรือการทอยกดอกเป็นลายดอกกวัก ดอกแก้ว ทำให้มีเสน่ห์เฉพาะตัวที่สวยงาม หากสถานการณ์ต่างๆ กลับสู่สภาวะปกติ วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่ง ‘โอกาส’ และ ‘ความหวัง’ ของคนเล็กๆ ที่ไม่เคยยอมแพ้ได้อย่างแน่นอน