เสนอจำกัด”รถตู้สาธารณะ”วิ่งไกลเกิน100 กม.ใช้มินิบัสแทน

หลังเกิดเหตุการณ์สลดอุบัติเหตุรถตู้โดยสารชนกับรถกระบะที่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย ซึ่งประเด็นอุบัติเหตุของรถตู้โดยสาร ยังเป็นประเด็นที่หลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่ยังคงต้องร่วมกันหาทางแก้ไขร่วมกัน โดยในงานเสวนาหัวข้อแนวทางปฏิรูป หลังโศกนาฏกรรมรถตู้”  ซึ่งมีวิทยากรผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ, รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ, ผศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ, และ ผศ.ดร.ดวงกมล ชาติประเสริฐ ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และดำเนินรายการโดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

โดยในวงเสวนาได้วิเคราะห์ปัญหาและหาทางออกร่วมกัน โดยระบุว่าปัญหานั้นมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสภาพรถ, สภาพคนขับ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยคือเหตุของสาเหตุนั้น เช่น หากสาเหตุคือคนขับหลับใน จึงต้องย้อนหาสาเหตุไปด้วยว่าที่เขาหลับในเป็นเพราะอะไร เป็นต้น ส่วนแนวทางการแก้ปัญหา ในวงเสวนาได้นำเสนอว่า แนวทางที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาได้อย่างครบถ้วนและยั่งยืน คือ การโน้มนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยนอกจากจะหาสาเหตุอีกขั้นแล้ว ยังไม่ควรแก้ปัญหาแบบสุดโต่ง และสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการสร้างวัฒนธรรมคน

นอกจากนี้ วงเสวนายังนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอุบัติรถตู้โดยสารสาธารณะด้วยการนำเทคโนโลยี โดยเฉพาะ GPS มาใช้ในรถตู้ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนขับ ส่วนภาครัฐนอกจากควรจัดสถิติอุบัติเหตุและวิจัยเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา ควรคำนึงถึงสวัสดิการของคนขับ และไม่ผลักดันต้นทุนความปลอดภัยไปให้เอกชนอย่างเดียว ขณะที่ภาคสื่อมวลชนเองก็ควรนำเสนอข่าวอย่างคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และคำนึงถึงความรู้สึกของคนที่ได้รับผลกระทบจากภาพที่สื่อนำเสนอด้วย

หนุนใช้จีพีเอสปรับพฤติกรรมคนขับ

รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เรื่องรถตู้เชื่อว่าแก้ได้ เพราะมีตัวอย่างของการแก้ไขปัญหารถโดยสารสาธารณะอื่นแล้วว่าแก้ไขได้ แต่ว่าต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อใช้บริการรถตู้ อย่างแรกที่เราควรให้ความสำคัญคือความปลอดภัยในรถตู้ ซึ่งคือเข็มขัดนิรภัยของทั้งของคนขับและผู้โดยสาร ที่ผู้โดยสารเองก็ต้องรู้ว่าเราต้องคาด แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าคนขับรถตู้หือแม้กระทั่งประชาชนและสื่อ กลับให้ความสำคัญกับความเชื่อ หรือเครื่องรองของขลัง ซึ่งไม่ผิด แต่มองว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคือคำตอบที่จะช่วยแก้ปัญหาให้มากกว่า แต่การแก้ปัญหาจะคงไม่สามารถจะทำได้ในระยะเวลา 30-50 วันต้องใช้เวลาค่อยๆ แก้ปัญหาไป

แนะนำให้นำระบบ GPS มาติดในรถตู้ ที่จะส่งสัญญาณมาที่บริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) และที่สถานีขนส่ง โดยสามารถบอกได้ว่าคนขับขับเร็วแค่ไหน เบรกกะทันหันกี่ครั้ง และบอกพฤติกรรมคนขับได้ด้วย โดยก่อนขับ คนขับจะมีใบแสดงตัวตนที่จะต้องรูดบัตรบนรถก่อน เพื่อที่จะติดตามได้ว่าคนขับมีพฤติกรรมอย่างไรซึ่งที่ศูนย์ของ บขส.มีหน้าจอมอนิเตอร์แบบเรียลไทม์ หากคนขับมีพฤติกรรมแปลกๆ ก็สามารถสื่อสารได้ทันที โดยยังมีหน่วยเก็บข้อมูล SD card สามารถบันทึกข้อมูลคนขับในระยะเวลา 6 เดือน และนำมาประมวลผลได้ ซึ่งจะทำให้คนขับปรับพฤติกรรมไปเอง เป็นการปรับพฤติกรรมด้วยเทคโนโลยี โดยปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้กับรถบัสวิ่งระหว่างจังหวัด ทำให้อุบัติเหตุของรถโดยสารบขส.ลดลง” 

ส่วนโครงการติดตั้งจีพีเอสในรถตู้นั้นกระทรวงคมนาคมมีโครงการนี้อยู่แล้ว โดยจากเดิมที่แผนระบุว่ารถตู้ทุกคันจะติดตั้งจีพีเอสจะแล้วเสร็จในปี 2561 แต่หลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าว รัฐบาลก็ได้ได้ปรับแผนให้เสร็จภายในมีนาคมปีนี้อย่างไรก็ตาม จีพีเอสไม่ใช่เครื่องมือวิเศษ แต่ต้องมีการกำกับดูแลที่ดีด้วย เพราะจีพีเอสเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเท่านั้น

นอกจากนี้ เรื่องของการไฟไหม้รถหลังเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมผ้าม่าน พรม และเบาะในรถตู้ ซึ่งโครงการวิจัยของจุฬาฯจึงได้ประเมินเพื่อผลักดันกฎหมายที่จะครอบคลุมกำกับดูแลวัสดุเหล่านี้ให้ทนไฟ โดยจะออกมาบังคับใช้ในปี 2562

วิ่งไกลเกิน 100 กม. ควรเป็นรถมินิบัส

รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า โดยก่อนหน้านี้จุฬาฯได้ทำการศึกษาวิจัยความปลอดภัยของการนำรถตู้มาใช้เป็นรถโดยสารสาธารณะ และแนวแผนปฏิบัติส่งให้ภาครัฐไปเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ยังไม่ทันนำมาใช้ ซึ่งจากการทำการศึกษาสถิติการเกิดอุบัติเหตุระหว่างรถตู้กับรถบัส พบว่ารถตู้มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่ารถบัสมาก และหากเทียบอัตราการตายแล้ว รถตู้ 1 คัน มีอัตราการตายสูงกว่ารถบัส 1 ชั้นถึง 5 เท่า สำหรับรถในต่างจังหวัด แต่รถที่วิ่งในเมืองไม่ได้สูงขนาดนี้ แต่ก็ยังสูงกว่ารถบัสอยู่ดี

สาเหตุเนื่องจากรถตู้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นรถประจำทาง เพราะมีขนาดเล็กมีการเพิ่มแถวที่นั่งมาอีก 1 แถว ทำให้แออัด ที่สำคัญประตู้รถตู้สามารถเปิดได้เพียงด้านเดียว หน้าต่างบานเล็ก ทำให้การหนีภัยทำได้ลำบาก นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุแล้วเกิดการสูญเสียมากกว่ารถบัส เพราะดีไซน์ของรถขนาดใหญ่จะปกป้องผู้โดยสารมากกว่า โดยพบว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่มีประเทศไหนใช้รถตู้เป็นรถประจำทาง แต่นิวซีแลนด์ที่ใช้ มีการกำหนดว่าที่นั่งผู้โดยสารต้องไม่เกิน 12 ที่นั่ง และต้องมีประตูหนีภัยด้วย ซึ่งของเราไม่มี

รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวต่อว่า เสนอว่าการเดินทางระยะไกล 100 กิโลเมตรขึ้นไป ให้เปลี่ยนเป็นรถมินิบัสแทน ส่วนในเมืองก็ให้ใช้ได้เพราะความจำกัดของการเดินทาง อย่างไรก็ตาม ถึงจะเปลี่ยนรถแล้ว แต่ไม่ควบคุมคนขับก็แก้ปัญหาไม่ได้ จึงเสนอให้แก้ปัญหาแบบระยะยาว โดยต้องดูว่าปัญหาเกิดจากรถบัสมีไม่พอเพียงเข้าไม่ถึงพื้นที่ของประชาชน และรัฐบาลก็ไม่ได้สนใจ โดยรถตู้มีความเร็วมากกว่าต้นทุนน้อยกว่า ส่วนรถบัสต้นทุนแพง และภาครัฐไมสนับสนุน ทใำห้ผู้ประกอบการรถบัสแข่งขันสู้รถตู้ไม่ได้ นอกจากนี้ สถานีขนส่งของรถบัสอยู่ไกล ทำให้ประชาชนต้องนั่งรถหลายต่อ เดินทางลำบาก และเมื่อเกิดปัญหาแบบนี้ รัฐกลับออกแนวทางแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการด้วยการเปลี่ยนรถบัสเป็นรถตู้ ทำให้ปริมาณรถตู้ยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก แต่คนขับรถตู้ที่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ เขาก็ยังจะมีพฤตกรรมแบบนี้อยู่ดี ดังนั้นรัฐควรจัดสวัสดิการที่เหมาะสมให้คนขับรถตู้ด้วย เพื่อให้เขามีพฤติกรรมที่เหมาะสม

ส่วนที่บางความคิดเห็นระบุว่าให้แก้ปัญหาด้วยการสร้างระบบทางรางโดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงให้ไปถึงทุกจังหวัดนั้น มองว่ารถไฟความเร็วสูงไม่ใช่คำตอบเพราะไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ ต้องต่อด้วยระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ อยู่ดี

 

ทั้งนี้ การจะปลุกจิตสำนึกได้ ต้องพัฒนาการศึกษาของประชาชน นอกจากนี้ รัฐควรบังคับใช้กฎกติกาให้เกิดประสิทธิภาพ เช่น จัดจุดพักรถ และให้คนขับมาลงชื่อทุกครั้ง, ใช้เทคโนโลยีจำกัดความเร็ว, ให้ประชาชนที่ใช้บริการเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การรายงานพฤติกรรมคนขับทางแอปพลิเคชั่น Line ของภาครัฐ เป็นต้น ขณะเดียวกันมีการลงโทษคนผิดอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ทำผิดซ้ำอีก และสุดท้ายคือ นอกจากรัฐจะต้องปรับปรุงด้านกายภาพ ทั้งสภาพรถและสภาพถนน รัฐควรจัดเก็ยสถิติเพื่อเฝ้าระวังปัญหาก่อนจะลุกลาม รวมถึงบริหารด้วยการเอาสถิติและคณิตศาสตร์มาคำนวณ เพื่อเพิ่มทางเลือกการเดินทางอื่นๆ ให้กับประชาชนด้วย

เปลี่ยนจากกำกับดูแลเป็นส่งเสริม

ผศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า รถตู้เป็นการให้บริการของผู้ประกอบการรายย่อย ที่คนมีรถเป็นของตัวเองแล้วมาเข้าวินและวิ่งให้บริการ แต่วินไม่ได้มีระบบรับผิดชอบรายบุคคล เมื่อคนหนึ่งผิด ก็โดนทำโทษเฉพาะบุคคลนั้น คนอื่นก็ยังทำผิดได้ และทำผิดซ้ำซากด้วย

เนื่องจากคนขับไม่มีสวัสดิการใดๆ ไม่มีเงินเดือน รายได้เป็นแบบหาเช้ากินค่ำ ดังนั้นรายได้จึงขึ้นอยู่กับว่าวิ่งได้กี่รอบ ทำให้ต้องทำอะไรที่ทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น เช่น เพิ่มจำนวนที่นั่งเพราะจะได้เพิ่มรายได้ ดังนั้นปัญหาอยู่ที่ต้นทุน ซึ่งจริงๆแล้วความปลอดภัยคือต้นทุนที่ใหญ่มากที่มองว่าควรเป็นต้นทุนของรัฐ แต่ที่ผ่านมารัฐไทยทำหน้าที่ในการกำกับ แต่ไม่ส่งเสริมสนับสนุนด้านการขนส่งสาธารณะซึ่งเป็นการผลักต้นทุนความปลอดภัยไปให้เอกชน แต่ไม่ได้ช่วยอะไรต้นทุนตรงนั้นลดลงเลยดังนั้น จึงต้องย้อนถามว่ารถโดยสารสาธารณะเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนหรือเปล่า ถ้าเป็นรัฐก็ต้องทุ่มเรื่องความปลอดภัยด้วย

ผศ.ดร.อภิวัฒน์ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาส่วนต้นทุน มองว่ารัฐทำได้ โดยจะเห็นว่ารัฐลงทุนมากมายกับโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นถนน เครื่องบิน รถไฟ แต่รัฐลงทุนน้อยมากกับรถตู้ ทำให้ดูเหมือนว่ารัฐไม่เคยคิดถึงคนจนเลยว่าเขาจะเดินทางอย่างไร จึงเป็นปัญหาว่าคนจนยังเสียค่าเดินทางสูงกว่าคนรวย ดังนั้นรัฐต้องตั้งว่าการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยรัฐอาจไปช่วยเอกชนด้วยมาตรการทางภาษีในการนำรถที่มีมาตรฐานเข้ามา รวมถึงเรื่องมาตรการทางดอกเบี้ยในการกู้เงินด้วย เป้นต้น

นอกจากนี้ ในส่วนของความรับผิดชอบของผู้ประกอบการรายย่อย เสนอว่าต้องใช้วิธีการแบบที่ออสเตรเลียหรือนิวยอร์ก ทำห่วงโซ่ของความรับผิดชอบ คือใครในวินทำผิด คนอื่นต้องรับผิดชอบด้วย แต่หมายความว่ารัฐต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์หลายอย่าง ทั้งการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และไม่ใช่การไปบังคับอย่างเดียว แต่ต้องส่งเสริมเอกชนด้วย

ใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางแก้ปัญหา

ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์ขึ้น ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ออกมาตรการแก้ไขที่น่าจะมีประสิทธิภาพและครบถ้วน แต่ที่ยังสงสัยคือหากหมดรัฐบาลนี้ ปีหน้าจะเป็นอย่างไร จึงต้องช่วยกันวิเคราะห์และหาทางออก โดยแนวทางที่มองว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างครบถ้วนและยั่งยืนคือ ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นปรัชญาที่ใช้ได้กับทุกเรื่อง โดยเป็นปรัชญาที่ประกอบไปด้วย 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.เหตุผล ที่ต้องรู้ว่าเหตุของปัญหาคืออะไร โดยควรมีมากกว่า 1 เหตุผล และแต่ละเหตุผลควรหาเหตุของเหตุนั้นด้วยว่าคืออะไร เช่น รถตู้มีอุบัติเหตุเกิดจากหลับใน ควรมองหาเหตุด้วยว่าคนขับหลับในเพราะอะไร และหาทางแก้ปัญหาต่อไป

“2.พอเพียง ที่ควรใช้ทางสายกลางในการแก้ปัญหา ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบสุดโต่งอย่างการยกเลิกรถตู้ไปเลย เป็นต้น และ 3.ภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นเรื่องของจิตสำนึกของคน เพราะจะเป็นส่วนที่ทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งหลายคนบอกว่าอยู่ที่คน แต่ตนคิดว่าไม่ใช่ แต่อยู่ที่การสร้างวัฒนธรรมให้คนมีระเบียบวินัย เป็นต้น” ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์กล่าว