ไม่มีที่ทำกิน? มหาดไทย เร่งหาพื้นที่ ช่วยประชาชนขาดรายได้ ให้มีที่ดิน-ตั้งตัวได้

ไม่มีที่ทำกิน? มหาดไทย เร่งหาพื้นที่-อบรม ช่วยประชาชนขาดรายได้ มีที่ดินทำกิน-ตั้งตัวได้ ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา

เว็บไซต์ มติชนออนไลน์ รายงานข่าว นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า หลังจากทำสำรวจความเดือดร้อนของประชาชน ในทุกมิติ อีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่เรานำมาขับเคลื่อนคือการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ยังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง

เพื่อตอบสนองการแก้ไขปัญหาในเรื่องคุณภาพชีวิต รวมถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมามีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก หลังจากที่ประชุม ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคน ทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ได้อนุมัติหลักการที่จะให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการในเรื่องของเขตเศรษฐกิจพอเพียง

โดยกำลังจะหาพื้นที่แปลงใหญ่สักแปลงหนึ่ง ในการรองรับผู้คนที่ยากจน ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกิน ให้พวกเขามีที่ทำมาหากิน โดยน้อมนำในเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา

“ตอนนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ได้ร่วมกันสำรวจตรวจสอบแปลงที่ดินมาหลายพื้นที่ ขณะนี้มีอยู่หลายหมื่นไร่ โดยจะใช้พื้นที่ เช่น ของวัด พื้นที่ของหลวง ที่ของเอกชน โดยหลักการสำหรับใครที่ไม่มีที่ทำกินเราก็จะเปิดรับสมัครให้ประชาชนเข้ามา เราก็จะหาที่ทำกินให้ และจะมีงบประมาณที่รัฐบาลพิจารณาให้ในการฝึกอบรม และปรับปรุงพื้นที่เพื่อให้เป็นไปตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา เราก็ดำเนินการอยู่ มีความคืบหน้ามากอีกหนึ่งกลุ่มคนเป้าหมายคือ ผู้ที่ผ่านโครงการฝึกอบรมโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวังของกรมราชทัณฑ์ ที่เขาไม่มีที่ทำกินและอยากจะใช้ชีวิตอย่างพอเพียง สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้ เราก็มีการจัดเตรียมไว้ให้ผู้ที่ประสงค์เข้าโครงการด้วย”

สำหรับที่ดินตามเป้าหมายของโครงการที่จัดเตรียมไว้ให้แต่ละครัวเรือน อาจจะได้ไม่มากนัก อาจจะได้ 1-3 ไร่ต่อครอบครัว ในเบื้องต้นห้วงระยะเวลาคาดการณ์ว่าประมาณ 5 ปี ที่คาดว่าผู้เข้าร่วมโครงการจะทำมาหากิน และตั้งตัวได้ หลังจากนั้นก็จะเปิดโอกาส ให้คนที่ไม่มีที่ทำกินรายอื่นๆ เข้ามาสมัครและได้เรียนรู้ รวมถึงพัฒนาตนเองได้ เพื่อให้เป็นผู้ที่สามารถประกอบอาชีพตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา

ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่านก็เห็นชอบในหลักการ และให้กระทรวงมหาดไทยไปคุยกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงบประมาณ ว่าจะทำกรอบของบประมาณ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องคนไทยได้อย่างไร และโครงการนี้จะเป็นต้นแบบที่สำคัญ ให้ผู้ที่มีพื้นที่ทำมาหากินอยู่แล้ว ได้เห็นเป็นต้นแบบอย่างเป็นรูปธรรมในการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

ภาพเขตเศรษฐกิจพอเพียงที่ทางกระทรวงมหาดไทยวาดหวังไว้ อยากให้ลองเทียบเคียงกับเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่าพอได้พื้นที่มาดำเนินการปรับปรุงพื้นที่เมื่อรวมกันทั้งหมดจะกลายเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ในการทำโคก หนอง นา

ซึ่งจะทำให้โครงการนี้เห็นผลและมีผลกระทบไปทั่วประเทศ หรือมี Impact ถึงขนาดที่ว่า จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้าได้เลย ตอนนี้เราดำเนินการอยู่ ใช้ชื่อว่า “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง Sufficiency Economy Development Zones for Sustainable Development Goals (SEDZ for SDGs)

จากจุดเริ่มต้นที่ทางกระทรวงมหาดไทย ตั้งใจจะแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย จึงอยากให้โอกาสภาคแรงงานที่มีทักษะและศักยภาพที่ประสบปัญหาว่างงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และกลับไปยังพื้นที่บ้านเกิด และร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย

เพื่อขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยที่ภาครัฐสนับสนุนการจ้างงาน โครงสร้างพื้นฐาน วัสดุอุปกรณ์พื้นฐาน และการอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ที่จำเป็นผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ด้วยพร้อมกับดึงภาควิชาการมาร่วมพัฒนาและยกระดับศักยภาพตัวบุคคล วางแผน พัฒนา และต่อยอดผลผลิตต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากความสมบูรณ์ของการพัฒนาพื้นที่

โครงการนี้ จะดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ทั้ง กำหนดพื้นที่เป้าหมาย พัฒนาและปรับปรุงพื้นที่, บ่มเพาะพัฒนาบุคลากร เร่งสร้างผู้ประกอบการใหม่ เพื่อนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้เชิงประจักษ์ผ่านการฝึกปฏิบัติร่วมในรูปแบบจิตอาสาพัฒนาและจิตอาสาภัยพิบัติ มีการต่อยอดผลผลิตเพื่อพัฒนาธุรกิจร่วมกับภาคเอกชน ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ทั้งนี้ จะมีการใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ โดยจัดทำแพลตฟอร์มขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ และสร้างนวัตกรรมจากฐานการวิจัยเพื่อพัฒนาตลาดและธุรกิจในพื้นที่ จากนั้นจึงสร้างการรับรู้และจดจำ และการสื่อสารสังคมเชิงรุก

ก่อนหน้านี้ รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล
ในฐานะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย เดินทางไปพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อติดตามและเยี่ยมชมความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”

รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ สำหรับพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีนี้ถือเป็นแห่งแรกในประเทศไทย และมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการมากที่สุดในประเทศไทย มากกว่า 4 พันแปลง จึงต้องประสานความร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อนำไปสู่การขยายผลของโครงการฯ

นอกจากนี้ ยังเป็นการสืบสานพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและแนวพระราชดำริต่างๆ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน

“ใครที่มีความทุกข์ร้อน ไม่มีที่ดินทำกิน กระทรวงมหาดไทยเราก็พร้อมเข้าไปช่วยเหลือดูแลอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชน ได้เรียนรู้ มีกิน ตั้งตัวได้ และสามารถประกอบอาชีพได้ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา ในสิ่งนี้เราดำเนินการเต็มที่อยู่แล้ว” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผย หัวใจสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนทุกมิติ