ภาษี หน้าที่คนไทยมีรายได้ ต้องจ่าย หากต้องการยื่น ต้องทำยังไง?

ภาษี หน้าที่ที่คนไทยมีรายได้ ทุกคน ต้องจ่าย หากต้องการยื่น ต้องทำยังไง?

เว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ ได้รวบรวมเรื่องควรรู้ เกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่จะยื่นภาษีในปี 2565 จากภาษีเงินได้ปี 2564 ดังนี้

ภาษีคืออะไร?

ภาษี คือสิ่งที่รัฐบาลเรียกเก็บจากประชาชนผู้มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศในด้านต่างๆ

หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีจากประชาชน และนำส่งให้เป็นรายได้ของแผ่นดิน ได้แก่ “กระทรวงการคลัง”

ใครบ้างที่ต้องยื่นภาษี

คนไทยที่มีรายได้ทุกคนควรยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แม้จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษีก็ตาม โดยกฎหมายระบุรายละเอียดไว้ดังนี้

  1. คนไทยทุกคนกรณีที่โสด มีรายได้ และได้เงินเกิน 120,000 บาทต่อปี หรือเฉลี่ยรายเดือนละ 10,000 บาท ต้องมีหน้าที่ยื่นเสียภาษี
  2. คนไทยทุกคนกรณีที่สมรส มีรายได้ และได้เงินเกิน 220,000 บาทต่อปี หรือเฉลี่ยรายเดือนละ 18,333 บาท ต้องมีหน้าที่ยื่นเสียภาษี

การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้

หมายถึงการนำแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของกรมสรรพากรมากรอกรายละเอียด พร้อมกับแนบหลักฐานรายได้ประจำปี ตลอดจนหลักฐานลดหย่อนต่างๆ เพื่อนำไปยื่นชำระภาษี ตามช่องทางที่กรมสรรพากรกำหนดไว้

ยื่นเสียภาษี 2564 ได้ที่ไหน หมดเขตวันไหน

การยื่นแบบและชำระภาษีปี 2564 เป็นการคิดรายได้ในปี 2564 ทั้งปี ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2564 โดยสามารถยื่นได้ในปี 2565 แบ่งเป็น 2 แบบ

  1. การยื่นภาษีออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร ยื่นได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2565 เป็นวันสุดท้าย
  2. การยื่นเอกสารเสียภาษีแบบกระดาษ ยื่นได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 เป็นวันสุดท้าย

รู้จัก ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91

การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามี 2 แบบ ได้แก่

  1. ภ.ง.ด.90 สำหรับผู้มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน เช่น ดอกเบี้ยจากการลงทุน ค่าเช่าบ้าน เงินปันผล
  2. ภ.ง.ด.91 สำหรับผู้มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริมอื่น เช่น เงินเดือน โบนัส เบี้ยประชุม ฯลฯ

เอกสารใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

ในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะต้องเตรียมเอกสาร ดังนี้

  1. หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ)
  2. รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา
  3. เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เพื่อกรอกแบบฟอร์มการยื่นจ่ายภาษี เช่น ใบเสร็จรับเงินเบี้ยประกันชีวิต หรือหนังสือรับรองการจ่ายเงินเบี้ยประกันชีวิต ฯลฯ

การขอลดหย่อนภาษี 4 ประเภท ปี 2564

ค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาใช้หักลดหย่อนภาษีในปี 2564 มี 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

  1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท (คู่สมรสต้องไม่มีรายได้)
  • ค่าลดหย่อนฝากครรภ์ และคลอดบุตร ไม่เกิน 60,000 บาท ต่อการตั้งครรภ์ 1 ครั้ง
  • ค่าลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000 บาท โดยจะต้องเป็นบุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม และบุตรมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุไม่เกิน 25 ปี
  • ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเอง และของคู่สมรส สูงสุดไม่เกิน 4 คน โดยลดหย่อนได้ 30,000 บาท หรือสูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท โดยบิดามารดาจะต้องมีอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท
  • ค่าอุปการะผู้พิการ หรือทุพพลภาพ 60,000 บาทต่อคน โดยผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรประจำตัวผู้พิการ รวมถึงจะต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ
  1. ค่าลดหย่อนภาษีประกัน การลงทุน และเงินออม
  • เงินสมทบประกันสังคม ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 5,100 บาท
  • ประกันชีวิตทั่วไป ประกันสะสมทรัพย์ ประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
  • ประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการออม หรือ SSF ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข., กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท

ทั้งนี้ กลุ่มการลงทุนนั้นรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

  1. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มบริจาค
  • เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อน
  • เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อโรงพยาบาลของรัฐ ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินบริจาคที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย
  • เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
  1. ค่าลดหย่อนภาษีที่อยู่อาศัย
  • ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

หลังจากยื่นเสียภาษีแล้ว เราจะทราบอะไรบ้าง?

  1. จำนวนเงินภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มจากภาษีที่หัก ณ ที่จ่าย
  2. จำนวนเงินคืนภาษีจากภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย
  3. จำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ

การคืนเงินภาษี

การคืนเงินภาษีสำหรับผู้ยื่นภาษีเงินได้ ทำผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่

1) การคืนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์

กรมสรรพากรจะโอนเงินภาษีที่ได้อนุมัติคืนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ สำหรับบุคคลที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชนกับบัญชีเงินฝากธนาคาร และได้แจ้งความประสงค์ขอรับเงินคืนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร

2) การคืนเงินผ่านสาขาธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรณีผู้ขอคืนเงินภาษีไม่ประสงค์รับเงินภาษีคืนด้วยการโอนเงินภาษีคืน เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์

สำหรับ กรณีผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี ที่มีคำสั่งศาลและได้รับหนังสือแจ้งคืน ค.21 ผู้จัดการมรดก ยังคงสามารถมาขอรับเงินคืนได้ที่สาขาธนาคารกรุงไทย ในรูปแบบบัตรเงินสด e-Money ได้

3) การคืนเงินสำหรับผู้ขอคืนที่ไม่สามารถลงทะเบียนพร้อมเพย์ กรณีชาวต่างชาติ ห้างหุ้นส่วนสามัญ คณะบุคคล วิสาหกิจชุมชน และกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง กรมสรรพากรจะออกหนังสือ ค.21 พร้อมเช็ค โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ตามที่อยู่บนแบบแสดงรายการให้ผู้ขอคืน เพื่อนำไปเข้าบัญชีเงินฝากที่สาขาธนาคารเท่านั้น

สำหรับผู้ขอคืนที่ได้รับ ค.21 ก่อน วันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ยังไม่ได้ขอคืนเงินที่สาขาธนาคาร และ ค.21 หมดอายุ ให้ยื่นคำร้องขอออกเช็คคืนภาษีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ กรมสรรพากรจะออก ค.21 ฉบับใหม่ พร้อมเช็ค และจัดส่งทางไปรษณีย์ให้ผู้ขอคืนต่อไป

ค่าปรับกรณีลืมชำระภาษี

หากชำระภาษีเลยวันที่กำหนด จะเสียค่าปรับดังนี้

  • ไม่เกิน 7 วัน เสียค่าปรับตามจริง ไม่เกิน 2,000 บาท
  • เกิน 7 วัน เสียค่าปรับตามจริง ไม่เกิน 2,000 บาท และมีดอกเบี้ย 15% ต่อเดือน ของยอดภาษีที่ต้องชำระ