ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ไทยเบฟ มอบ 2 ล้าน อนุรักษ์แหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ให้ยั่งยืน
เมื่อเร็วๆ นี้ คุณกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีรับมอบเงินสนับสนุนโครงการอนุรักษ์ประติมากรรมปูนปั้นวัดช้างรอบ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ระหว่างกรมศิลปากรและบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จำนวน 2 ล้านบาท ณ ห้องประชุมชั้น 5 กรมศิลปากร (อาคารเทเวศร์)
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การรักษาสืบทอดมรดกของชาติ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน การสนับสนุนงบประมาณในโครงการอนุรักษ์ประติมากรรมปูนปั้นวัดช้างรอบ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในครั้งนี้ ถือเป็นตัวอย่างของความร่วมมือ ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ให้ยั่งยืนสืบไป
สำหรับ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในฐานะแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของจังหวัดกำแพงเพชร โดยโบราณสถานวัดช้างรอบ ตั้งอยู่นอกเมืองกำแพงเพชร ในพื้นที่เขตอรัญญิก มีเจดีย์ประธานเป็นศูนย์กลางของวัด
ซึ่งคุณค่าความโดดเด่นของเจดีย์ประธานที่วัดช้างรอบแห่งนี้ คือ การประดับประติมากรรมช้างปูนปั้นรอบฐานเจดีย์ประธาน จำนวน 68 เชือก มีเทคนิคการสร้างด้วยการใช้ศิลาแลง เป็นโกลนด้านใน แล้วพอกแต่งปูนให้เกิดความสวยงามบนผิวภายนอก ประติมากรรมช้างพบครึ่งตัว มีส่วนหัวและขาหน้ายื่นออกมาจากฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส
ลักษณะที่พิเศษ คือ การทำปูนปั้นเป็นเครื่องประดับบนตัวช้าง เรียกว่า ช้างทรงเครื่อง พื้นที่ผนังที่คั่นระหว่างช้างแต่ละเชือกมีปูนปั้นนูนต่ำลายพันธุ์พฤกษาประดับโดยรอบ ขณะนี้ประติมากรรมรูปช้างและลวดลายปูนปั้นต่างๆ อยู่ในสภาพชำรุด เสี่ยงต่อการพังทลายในอนาคต จึงมีความจำเป็นต้องอนุรักษ์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
กรมศิลปากร โดยอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย และกลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมประติมากรรม กองโบราณคดี จึงได้ร่วมกันจัดทำแนวทางการดำเนินงานอนุรักษ์ประติมากรรมรูปช้างและลวดลายปูนปั้นประดับวัดช้างรอบ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2565
สำหรับแนวทางในการอนุรักษ์ จะมุ่งเน้นไปที่การทำความสะอาดคราบไคล สิ่งสกปรกและวัชพืชต่างๆ รวมถึงการเสริมความมั่นคงของศิลาแลง อิฐ ดินเผา ลวดลายประดับตกแต่ง ชั้นปูนฉาบและชั้นปูนปั้น เป็นหลัก โดยใช้วัสดุดั้งเดิม ที่ใช้สำหรับการอนุรักษ์หรือวัสดุทดแทนที่ได้รับการยอมรับตามหลักสากล ไม่เป็นอันตรายต่อโบราณสถาน
ไม่ทำให้พื้นผิวของวัสดุเปลี่ยนสภาพไป และไม่ปิดกั้นการระบายความชื้นภายในเนื้อวัสดุ ส่วนกรณีการปั้นซ่อมหรือเพิ่มเสริมให้ครบสมบูรณ์จะพิจารณาเฉพาะพื้นที่ที่จำเป็นเท่านั้น