หวังลด เหลื่อมล้ำ ว่าที่สถาปนิกสาว ออกแบบอาคาร เพื่อเด็กชุมชนกองขยะ

หวังลด เหลื่อมล้ำ ว่าที่สถาปนิกสาว ออกแบบอาคาร เพื่อเด็กชุมชนกองขยะ

ไอติม-เปมิกา แซ่เล้า นักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กับผลงานปริญญานิพนธ์ หัวข้อ “ขยะที่ถูกทิ้งขยะที่ถูกลืม Children of the Trash” ด้วยเหตุผลของงานออกแบบที่ว่า

“เด็กทุกคนมีความฝัน แต่เด็กหลายๆ คน ไม่กล้าแม้แต่จะฝัน เพราะสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการสานฝันเด็กๆ เหล่านั้น โดยเฉพาะเด็กในชุมชนกองขยะ ที่พ่อแม่พวกเขา ช่วยทำให้บ้านเมืองเราสะอาดและน่าอยู่ แต่ลูกของพวกเขากลับไม่ได้รับโอกาสทางด้านการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น”

เมื่อบ้านเป็นสถานที่สำคัญที่ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย การเผาขยะเป็นสิ่งที่ทำลายโลก เป็นที่มาของการศึกษางานวิจัยออกแบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย มาผสมผสานกับขยะรีไซเคิล และออกแบบโรงเรียนเพื่อชุมชน ซึ่งเป็นความตั้งใจสร้างงานออกแบบสถาปัตยกรรมโดยเลือกจำลองงานออกแบบพื้นที่ชุมชน เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

โดยเน้นการออกแบบพื้นที่ที่ให้คงความรู้สึกของตัวอาคารโรงเรียนให้เหมือนบ้าน โดยออกแบบโรงเรียนให้เกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุดจากขยะรีไซเคิล การนำถุงพลาสติกมารีไซเคิลและนำมาใช้ในการออกแบบเป็นอาคารเรียนเเละสนามเด็กเล่นที่สามารถต่อเป็นรูปทรงต่างๆ นั้น เกิดจากแรงบันดาลใจมาจากการที่เราเห็นโพสต์ข่าวในสื่อออนไลน์

เมื่อการที่พ่อคนหนึ่งต้องพาลูกหนูน้อยวัย 4 ขวบ ออกไปเดินเก็บขยะขายเพื่อเลี้ยงชีพ สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมทางด้านการศึกษาของประเทศไทยเป็นอย่างมาก งานออกแบบพื้นที่นี้ตั้งใจออกแบบเพื่อลดปัญหาทางสังคมด้านการศึกษา จึงคิดว่าถ้ามีการนำไปต่อยอดหรือปรับแก้ให้เข้ากับสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย เด็กๆ ในอีกหลายพื้นที่อาจได้รับโอกาสที่ทุกคนควรได้รับ

โดยจุดเริ่มต้นของแนวคิดในการออกแบบมักจะเกิดจากการที่เรานึกถึงคนอื่นก่อนเสมอ เพราะการนึกถึงคนอื่นในที่นี้ คือ ผู้ใช้งาน จะทำให้งานออกแบบตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาที่ตรงจุดได้มากที่สุด ออกแบบอาคารของโรงเรียนเพื่อให้โรงเรียนมีความอย่างยั่งยืนและมั่นคง

ต้นแบบ

สามารถสร้างและใช้พลังงานสะอาดจากการออกแบบตัวอาคารให้ประหยัดพลังงานมากที่สุด รวมไปถึงการออกแบบเครื่องเล่นภายในโรงเรียนให้เปลี่ยนแปลงรูปร่างไปได้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับเด็กได้เกิดจินตนาการทางความคิดและไม่น่าเบื่อ ที่สำคัญ อยากให้การออกแบบนี้สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้อีก

แนวทางการออกแบบ คือเด็กๆ ต้องมีพื้นที่เรียนรู้ผ่านการเล่นได้อย่างปลอดภัย จึงออกแบบพื้นที่ให้โอบล้อมเด็กเอาไว้ในอาคารเพื่อให้อยู่ในบริเวณ และแยกออกเป็นส่วนๆ ตามการใช้งานของอาคาร และจะต้องเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด ตัวทรงหลังคาที่มีความรู้สึกเหมือนบ้านและแปลนเสามีขนาดเป็น 3 เมตร และ 6 เมตร เพื่อง่ายต่อการก่อสร้างอาคารมากที่สุด

วัสดุที่เลือกใช้ก็คือ SCG METALS SHEET, SMARTBOARD SCG, PC BOARD และตัวผนังเราจะใช้การเสริมถุงพลาสติกเหลือใช้นำมารีไซเคิลด้วยการทำเป็นฉนวนกันความร้อนภายในอาคาร ส่วนการวางผังอาคารก็จะกำหนดพื้นที่ใช้สอย

โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักด้วยกัน คือ ส่วนทำกิจกรรม (ตรงส่วนบนของพื้นที่โครงการทั้งหมด) เนื่องด้วยพื้นที่มีความเป็นมุมแหลมและจัดเป็นพื้นที่อย่างอื่นไม่เหมาะสม จึงเลือกที่จะให้ไปอยู่ทางส่วนบนทั้งหมด และส่วนที่ 2 คือส่วนของอาคารเรียน แต่ในขณะเดียวกัน ที่แยกส่วนออกเป็นส่วนการใช้งานก็จริงและคำนึงถึงพื้นที่การเล่นอย่างปลอดภัยจึงได้เปิดพื้นที่ตรงกลางระหว่างอาคารเพื่อเป็นพื้นที่เล่น

การเลือกใช้วัสดุรีไซเคิลกับงานสถาปัตยกรรมไม่ได้มีแค่เพียงการใช้ถุงพลาสติกมาเป็นฉนวนกันความร้อน แต่ว่ายังนำมาสานกันให้เกิดเป็นพื้นที่เล่น มีการต่อจอยส์ไม้ให้สามารถเปลี่ยนรูปแบบของสนามเด็กเล่นได้ ส่วนการเลือกนำถุงพลาสติกเหลือใช้มาใช้ในการทำพื้นที่เล่นให้แก่เด็กๆ ได้นำถุงพลาสติกเหล่านี้ไปใช้กับประตูของอาคารอีกด้วย

งานออกแบบหวังลดเหลื่อมล้ำ

เนื่องจากถุงพลาสติกมีหลากหลายสี ทำให้สามารถเปลี่ยนสีได้หลากหลายตามเทศกาลต่างๆ หรือถ้าถุงมีสภาพเริ่มเปื่อยก็สามารถสานถุงใหม่แล้วนำมาถอดเปลี่ยนได้โดยง่ายที่สามารถให้เด็กๆ ในโรงเรียนจัดเป็นกิจกรรมการสร้างโรงเรียนด้วยการสานถุงได้อีกด้วย ซึ่งเป็นรูปทรงที่สามารถเปลี่ยนได้ของพื้นที่นั่นเอง

จากความรู้ด้านสถาปัตยกรรมที่ตนได้เรียนมาเสมือนเป็นการเปิดโลกอีกใบหนึ่งขึ้นมา เพราะไม่ใช่แค่เรื่องของการศึกษา หรืองานออกแบบต่างๆ ที่เราได้รับ แต่หมายถึงการที่ตัวเราได้พบเจอกับสังคมและเพื่อนใหม่ๆ ข้อดีที่ได้ความรู้มากกว่าการอยู่ในห้องเรียน คือประสบการณ์จากเรื่องราวรอบตัวทำให้เราเป็นคนหนึ่งที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก

ซึ่งเป็นข้อดีที่ทำให้นำไปต่อยอดในสายอาชีพในอนาคตได้ นอกจากนี้ งานออกแบบพื้นที่ดังกล่าวสามารถให้เด็กๆ ได้รับการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม จะสามารถสร้างความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหากมีผู้สนใจนำงานออกแบบไปใช้เพื่อการพัฒนาชุมชน หรืออยากมอบโอกาสให้แก่เด็กในชุมชนที่ถูกมองข้าม จะส่งผลดีต่อเด็กในยุคปัจจุบันและอนาคตได้อีกด้วย