ส้มจุก ปลุกชีวิต หนึ่งต้น สร้างงานหลากหลาย เป้าหมายต่อไป เกษตรแปลงใหญ่

ส้มจุก ปลุกชีวิต หนึ่งต้น สร้างงานหลากหลาย เป้าหมายต่อไป เกษตรแปลงใหญ่

เมื่อ ส้มจุก ผลไม้ประจำถิ่นของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เริ่มลดน้อยลง และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทางคณะทำงานที่ประกอบด้วย คุณอะหมัด หลีขาหรี องค์การบริหารส่วนตำบลแค และเครือข่ายชาวบ้านในตำบล จึงร่วมกันหารูปแบบในการขยายพันธุ์ส้มจุก

โดยการสนับสนุนองค์ความรู้จาก คุณคมสัน หลีขาหรี วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านส้มจุกจากสำนักงานเกษตรอำเภอจะนะ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก โครงการทุนพัฒนาอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ซึ่งการทำงานในปีแรก เกิด ‘กลไกการสนับสนุน’ ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายชาวบ้านจากตำบลแค 5 หมู่บ้าน ซึ่งทำหน้าที่ขับเคลื่อนการทำงานเพื่อขยายผลการปลูกส้มจุก ทำให้เกิด ‘กลุ่มเพาะพันธุ์กล้าส้มจุก ในพื้นที่ตำบลแค ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายกิ่งพันธุ์กว่า 70,000 บาท และผลดังกล่าวไม่ได้เกิดเฉพาะกลุ่มผู้ปลูกส้ม แต่ยังสร้างงาน สร้างอาชีพให้กลุ่มเป้าหมายที่ว่างงาน และมีรายได้น้อย คือ ทำหน้าที่ดูแลสวนส้มให้เจ้าของสวนคนอื่นๆ

“เราไม่ได้มองแค่เรื่องการปลูกส้มขาย เรามองไปที่อาชีพที่เกิดจากส้มจุก ซึ่งปีแรกเราพบว่า ส้ม 1 ต้นก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก เช่น กลุ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ กลุ่มดูแลสวนส้ม กลุ่มเพาะพันธุ์กล้า ด้วยเหตุนี้ เราจึงอยากให้เกิดการเพาะ และขยายพันธุ์ส้มจุกครอบคลุมในทุกตำบลของอำเภอจะนะ และเพื่อเป้าหมายไกลๆ คือการทำให้ส้มจุกกลับมาเป็นผลไม้ของอำเภอ”

ดังนั้น โครงการต่อยอดในปีที่ 2 จึงเป็นการใช้ ‘กลไก’ หรือ คณะทำงานเพื่อการขยายพันธุ์ส้มจุก และ ‘เครือข่าย’ บวกกับหลักสูตรที่ได้จากการทำงานในปีแรกเข้ามาขับเคลื่อนการทำงานทั้งในลักษณะการ ‘ต่อยอด’ และ ‘ขยายผล’ โดยการต่อยอดคือการสร้างเครือข่ายผู้ปลูก สร้างตลาด ส่วนเรื่องการขยายผลคือการเพิ่มพื้นที่ปลูกส้มจุก เพื่อให้อำเภอจะนะเป็นพื้นที่ปลูกส้มจุกทั้งอำเภออย่างแท้จริง

สวนส้มจุก

‘เป้าหมาย’ ในที่นี้คือการทำให้ส้มจุกกลับมาเป็นผลไม้ประจำถิ่นอีกครั้ง เพราะหลังจากการเปลี่ยนแปลงของการทำเกษตรในพื้นที่ครั้งใหญ่ ส้มจุก ที่ปลูกอยู่เกือบทุกบ้านค่อยๆ หายไป ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น เพราะเกษตรแนวใหม่ มักใช้สารเคมี ขณะที่ส้มจุก อ่อนไหวต่อเคมีทุกชนิด และหากฝัน หรือ เป้าหมายที่ว่าเป็นจริง ก็จะนำไปสู่การขอขึ้นทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ว่าส้มจุกแท้ ต้องมาจากอำเภอจะนะ เท่านั้น

“ก่อนเริ่มโครงการ ต้องทำความเข้าใจกับชุมชนว่าเราต้องการเดินไปในทิศทางไหน และต้องการการมีส่วนร่วมในเรื่องอะไรบ้าง เพราะถ้าไม่ทำความเข้าใจ และไม่ช่วยกันเปลี่ยนแปลง เราไม่มีทางเดินไปถึงเป้าหมายได้” คุณอะหมัด กล่าวถึงจุดเริ่มในการทำงาน

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำภายใต้โครงการพัฒนาทักษะอาชีพการขยายพันธุ์และดูแลสวนส้มจุกในพื้นที่ 5 ตำบล อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา คือ การขยายพื้นที่ เพื่อระดมทั้งสรรพกำลัง และพื้นที่ในการขยายปลูก และขยายพันธุ์ส้มจุก

หายาก

“เรามีคณะทำงานที่มาจากหลายภาคส่วน มีองค์ความรู้ที่มาในรูปของหลักสูตร มีวิทยากรที่เป็นผลมาจากการพัฒนาโครงการในปีแรกหลายคน และพวกเขาก็พร้อมที่จะส่งต่อองค์ความรู้ให้กับชาวบ้านคนอื่นๆ เมื่อบวกกับการจะขยายพื้นที่ไป 5 ตำบล จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องยากมากนัก”

คุณอะหมัด ยังบอกอีกว่า การเพิ่มเครือข่ายจะทำให้มีองค์ความรู้เพิ่มมากขึ้น เพราะในตำบลอื่น ก็มีชาวบ้านปลูกส้มจุก ซึ่งต่างก็มีความรู้และภูมิปัญญาที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากได้มาเป็นเครือข่ายเดียวกัน ก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน

และในส่วนของวิธีการทำงานนั้น คุณอะหมัด อธิบายคร่าวๆ ว่า ใช้กระบวนการแบบปีแรกคือ จัดตั้งคณะกรรมการ หรือ ทีมระดับตำบล โดยชาวบ้านใน 5 ตำบลจะเลือกตัวแทน1 คนเพื่อเข้ามาทำงานเป็น ‘คณะกรรมการกลาง’ ทำหน้าที่ประชุมเพื่อรับทราบแนวทางการทำงาน และลงไปนำเสนอต่อคนอื่นๆ ในพื้นที่ของตนเอง

เมื่อได้คณะทำงาน ขั้นตอนต่อมาคือการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้กรอบของทุนพัฒนาอาชีพโดยชุมชนเป็นฐาน

วิธีการใกล้เคียงกับปีที่แล้ว คือ ให้ทีมตำบลไปคัดเลือกว่าใครที่อยู่ในเกณฑ์บ้าง จากนั้นคณะกรรมการ ที่มาจากเครือข่ายของแต่ละตำบล เช่น ตัวแทน อบต. ตัวแทนมัสยิด มานั่งคัดเลือกว่าคุณสมบัติเป็นอย่างไร เพื่อหากลุ่มเป้าหมายให้ครบ 50 คน โดยใช้ฐานข้อมูลประชากรของทั้ง 5 ตำบล มาเทียบดูว่าใครอยู่ตรงไหน ตรงกับฐานข้อมูลของ อบต. หรือไม่ เช่น ใครปลูกส้ม ใครเป็นแรงงานนอกระบบ หรือ ปลูกยาง เพราะว่าช่วงนี้ราคายางมันตก

ส้มจุก

หรือกลุ่มเยาวชนที่เราต้องการจะพัฒนาศักยภาพเขาขึ้นมาเพื่อทำงานต่อในอนาคต หรือแม้แต่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด กลุ่มตกงาน กลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อคัดออกมาให้ครบ 50 คน ทั้งนี้ คุณอะหมัด ให้เหตุผลว่า ที่ตั้งใจทำงานกับกลุ่มเป้าหมายเพียง 50 คนเพราะต้องการให้งานออกมามีคุณภาพตามศักยภาพและสรรพกำลังที่มี

ในส่วนของกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการคัดเลือก ต้องเข้าสู่กระบวนการพัฒนาศักยภาพและทักษะทางอาชีพ โดยดึงผลความสำเร็จของอาชีพในปีแรก คือ การดูแลสวนส้ม และขยายพันธุ์ส้มจุก

คุณอะหมัด ให้เหตุผลว่า สองอาชีพนี้เป็นกำลังสำคัญในการขยายพื้นที่สวนส้ม และเอื้อต่อกลุ่มเป้าหมายที่ไม่มีสวนส้มเป็นของตนเอง กล่าวคือ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเกษตรกร ซึ่งมีทักษะเดิม คือ เรื่องการทำเกษตร เมื่อคณะทำงานให้ความรู้ พวกเขาก็จะสามารถนำไปต่อยอดปลูกส้มในที่ดินของตนเอง ทั้งในเรื่องของการดูแล และขยายพันธุ์

สำหรับกลุ่มที่ไม่มีที่ดิน และไม่มีสวน ความรู้เรื่องการดูแล จะช่วยให้เขามีรายได้จากการจ้างงาน เพราะเจ้าของสวนส่วนมากมักไม่มีเวลาดูแล และต้องการแรงงานในการดูแลสวนส้ม

คุณมาริหยาม มะหะหมัดวงศ์ อายุ 59 ปี อาชีพเกษตรกร กลุ่มเป้าหมายปีแรก ปัจจุบันยกระดับเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการขยายพันธุ์ เล่าว่า ที่บ้านปลูกทุเรียน ลองกอง สละอินโด ขนุน ฝรั่ง ตะขบ สะตอ บนพื้นที่ 12 ไร่แบบผสมผสาน การมาร่วมในโครงการทำให้เธอได้ความรู้ด้านการตอนกิ่ง โดยสามารถเอาไปปรับใช้กับผลไม้ในสวนได้หลายชนิด ตั้งแต่เข้าร่วมในโครงการเธอสามารถขายเฉพาะกิ่งพันธุ์ส้มจุกได้ 70,000 บาท

“ได้ความรู้เยอะ ที่ภาคภูมิใจ คือ ได้ถ่ายทอดความรู้ที่มีให้กับคนอื่นๆ ได้อีกด้วย”

ทุกวันนี้ ชาวบ้านเกือบทั้งอำเภอรู้แล้วว่า มีรายได้มากมายจากส้ม 1 ต้น อาทิ กิ่งพันธุ์ส้มจุก ขายได้ราคา 150 บาท และต้นส้มที่สมบูรณ์สามารถตอนกิ่งได้มากกว่า 50 กิ่ง สำหรับกลุ่มรับจ้าง มีรายได้จากการดูแลสวนไม่น้อยกว่า 500 บาทต่อการดูแล 1 ครั้ง

ของดีจะนะ

เช่น ใส่ปุ๋ย ซึ่งซื้อจากกลุ่มปุ๋ยชีวภาพ ตัดหญ้า แต่งกิ่ง และเมื่อต้นส้มโตเต็มที่ ขายได้กิโลกรัมละ 250-300 บาท และส้ม 1 ต้นให้ผลผลิตมากกว่า 10 กิโลกรัม สำหรับกลุ่มลูกค้า ส่วนใหญ่เป็นระดับ Hi-end เพราะส้มจุกราคาค่อนข้างสูง และมักซื้อเป็นของฝากมากกว่าซื้อไปกินเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อทิศทางการเติบโตของส้มจุกสามารถคาดการณ์ได้แบบนี้ การบริหารจัดการในลักษณะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปอาจจะไม่ตอบโจทย์ในอนาคต อีกทั้ง ‘ส้ม’ สายพันธุ์นี้ เป็นสายพันธุ์ที่ดูแลยาก ดังนั้น แนวทางสร้างความร่วมมือเพื่อให้ได้พื้นที่ปลูกส้มในปริมาณที่มากพอ คือ การทำ “เกษตรแปลงใหญ่” ซึ่งเป็นนโยบายของภาครัฐ ที่ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน และช่วยกันบริหารจัดการ โดยต้องร่วมกลุ่มกันให้ได้พื้นที่เพาะปลูกอย่างน้อย 50 ไร่

และถ้ารวมกันได้ จะมีทั้งงบประมาณ และองค์ความรู้จากหน่วยงานเกษตรเข้ามาสนับสนุน แต่การรวบรวมสมาชิกที่เรากำลังดำเนินงานอยู่นั้นไม่ง่าย บางคนไม่สนใจที่จะเข้าร่วมตรงนี้ ฉะนั้น ต้องทำความเข้าใจหลายเรื่อง

เมื่อการร่วมกลุ่มของกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกส้มอยู่แล้วไม่ใช่เรื่องง่าย ทางออกของคณะทำงานคือ ‘สร้างเครือข่าย’ ขึ้นมา โดยใช้ฐานจากกลุ่มเกษตรกรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในระดับตำบลที่เข้ามาร่วมในโครงการตั้งแต่ปีที่ 1

“คณะทำงานมองว่า หลังจบโครงการหรือในอนาคต เราก็จะมีเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกส้ม ไม่น้อยกว่า 30 คน จำนวนพื้นที่ปลูกอาจจะมากกว่า 50 ไร่ ซึ่งมีการคำนวณแล้วว่า แม้จะปลูกกันทั้งตำบล ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด” คุณอะหมัด กล่าว