หรอยแรง เครื่องแกงเจ๊ะฆูลา สร้างรายได้ แถมช่วยระบายทุกข์ ให้กำลังใจกัน

หรอยแรง เครื่องแกงเจ๊ะฆูลา สร้างรายได้ แถมช่วยระบายทุกข์ ให้กำลังใจกัน

‘เจ๊ะฆูลา’ เครื่องแกงรสจัดจ้านจากแดนใต้ คือ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลความสำเร็จของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนีปิสกูเละ ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เป็นการสืบสานการทำ ‘เครื่องแกง’ พื้นบ้าน ด้วยการสืบค้นภูมิปัญญาที่เป็นทุนของชุมชน ถอดสูตรปรุงรสด้วยเสน่ห์ปลายจวักของสตรีผู้ด้อยโอกาส เพื่อสร้างเครื่องแกงที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับดั้งเดิม

เหตุผลในการเข้ามาร่วมทำโครงการทุนพัฒนาอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐานในปีแรก ของชาวบ้านใน ชุมชนดาโตะ ชุมชนบ้านนีปิสกูเละ ชุมชนกาแระ จังหวัดปัตตานี นั้น เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ว่างงาน และขาดรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มสตรีที่ก่อนหน้านั้น มีความพยายามในการตั้งกลุ่มอาชีพ ด้วยการทำขนมขาย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

เนื่องจากขาดการวิเคราะห์ด้านการตลาด เช่น ไม่เข้าใจต้นทุนและศักยภาพของตัวเอง ไม่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ขาดการวิเคราะห์ด้านต้นทุนการผลิต และไม่มีทักษะด้านการขาย อีกทั้งการอบรมอาชีพที่ผ่านมาใช้ความรู้จากนอกชุมชน

ดังนั้น โครงการในปีแรก คือ การกลับไปศึกษาฐานชุมชน เช่น ฐานความรู้ ความพร้อม พบว่าชุมชนมีองค์ความรู้ด้านการทำเครื่องแกง จึงทำการรวบรวมสูตรเครื่องแกงของท้องถิ่นจากผู้เชี่ยวชาญหรือปราชญ์ชุมชน ทดลองทำเครื่องแกง พร้อมๆ ควบคู่ไปกับการเก็บข้อมูลความพึงพอใจของผู้บริโภคที่มีต่อเครื่องแกง กระทั่งนำไปสู่การเกิดอาชีพใหม่คือการทำเครื่องแกงภายใต้แบรนด์ ‘เจ๊ะฆูลา’ แปลว่า ‘เครื่องแกงของแม่’

ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของชุมชนนีปิสกูเละ เพื่อสืบสานการทำเครื่องแกงพื้นบ้านสู่รายได้ของชุมชน วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านราบอ จึงเกิดการปรับกระบวนการทำงานใหม่

การเกิดขึ้นของแบรนด์ ‘เจ๊ะฆูลา’ ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านในชุมชนนีปิสกูเละมีรายได้ชุมชนเดียว แต่ยังทำให้เกิด ‘เครือข่ายการผลิตเครื่องแกง’ ภาษาทางการตลาดเรียก Supply chain กล่าวคือ รายได้ที่เกิดจากกลุ่ม ‘ต้นน้ำ’ คือกลุ่มปลูกวัตถุดิบที่ใช้สำหรับการทำเครื่องแกงจำพวก พริก ข่า ตะไคร้ ขมิ้น ใบมะกรูด ฯลฯ สำหรับกลุ่ม ‘กลางน้ำ’ คือกลุ่มผู้ผลิตเครื่องแกง และ ‘ปลายน้ำ’ คือกลุ่มตลาด หรือ พ่อค้าแม่ค้าในชุมชน

และทุกวันนี้ กว่าจะมีเครื่องแกงรสจัดจ้านที่กำลังกระจายไปสู่กลุ่มผู้บริโภคทั่วประเทศผ่านเทคนิคการตลาด คือขายให้กลุ่มคนใกล้ตัว เพื่อให้เกิดการพูดแนะนำแบบ ‘ปากต่อปาก’ ชุมชนนีปิสกูเละผ่านการลองผิดลองถูกมาหลายกระบวนท่า ก่อนมาสรุปที่ ต้องทำในเรื่องที่ตัวเองมีความรู้ และมีคนสนับสนุน

นางสาวตูแวคอดีเย๊าะ กาแบ จากวิสาหกิจชุมชนนีปิสกูเละ ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าว่า เดิมทีคนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยาง รับจ้างกรีดยางเพียงอย่างเดียว เมื่อราคายางตกต่ำ รายได้ที่เคยมีก็หดหายไป ประกอบกับหลังกรีดยางเสร็จในช่วงเช้าเห็นชาวบ้านมีเวลาว่าง จึงชวนกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มแม่บ้าน เพื่อหาทางลดรายจ่าย เพิ่มรายได้เสริม

เครื่องแกงปัตตานี

“เราเป็นคนในพื้นที่ จึงรู้ว่าฐานทุนชุมชนมีอะไรบ้าง ทั้งคน ทรัพยากร และองค์ความรู้ แต่เมื่อได้ค้นคว้าเชิงลึกพบว่า รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องแกง โครงการปีแรก จึงนำสูตรเครื่องแกงที่เกิดจากภูมิปัญญาของหลายบ้าน มาทดลองทำแบบลงลึกทั้งรสชาติ สี กลิ่น ส่วนผสม และวิธีทำ จนกระทั่งได้สูตรเครื่องแกงหลายชนิด ทั้งแกงส้ม แกงเผ็ด และแกงมัสมั่น ที่เป็นสูตรเฉพาะของกลุ่ม” นางสาวตูแวคอดีเย๊าะ เล่า

และว่า เมื่อได้สูตรเครื่องแกง ทีมมีการทดลองตลาด โดยนำไปฝากขายบนรถปลา (รถเร่ขายกับข้าวตามหมู่บ้าน) ฝากขายเครือข่ายร้านค้าในชุมชน ซึ่งมีเสียงสะท้อนกลับมาว่า รสมือยังไม่นิ่ง ราคาแพง กลุ่มจึงอยากพัฒนาเครื่องแกงให้มีคุณภาพและขายได้จริง ขณะเดียวกัน กลุ่มยังต้องการพัฒนาเครื่องแกงชนิดอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งแกงราดพริก แกงเขียวหวาน แกงขาว แกงเขียว แกงแพะ และแกงกอ

จึงคิดต่อยอดงานด้วยการทำโครงการการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องแกงและพัฒนาสินค้าเกษตรสู่ตลาดต่อในปี 2563 โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมทั้งสิ้น 100 คน มีทั้งกลุ่มเป้าหมายเก่าและใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน หรือรับจ้างกรีดยาง ที่มีเวลาว่างตั้งแต่เวลา 10.00 น. ของทุกวัน ส่วนกลไกในการคัดเลือกนั้นใช้วิธีประกาศรับสมัครผ่านมัสยิด ซึ่งเป็นสถานที่รวมตัวของคนในชุมชน

ฝากขาย

นางสาวตูแวคอดีเย๊าะ เล่าต่อว่า ผลจากการถอดบทเรียนการทำงานปีแรก พบว่า สูตรเครื่องแกงมีรสชาติไม่สม่ำเสมอ ราคาแพง เมื่อต้องทำงานต่อในปีที่ 2 กลุ่มจึงมีการพัฒนาสูตรเครื่องแกงใหม่ให้ได้มาตรฐานและคุณภาพมากยิ่งขึ้น

“ปีแรกที่ทดลองขายเครื่องแกงเราพบว่า ราคาและคุณภาพคือหัวใจสำคัญ โดยรถปลาขายเครื่องแกงถุงละ 5 บาท ขณะที่ในกลุ่มขายถุงละ 10 บาท เพราะวัตถุดิบราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากทำตามออร์เดอร์เท่านั้น ทำให้ถูกทักท้วงว่าราคาแพง จึงทดลองกลับมาทำแบบลดต้นทุน ปรากฏว่าขายไม่ได้ เราจึงต้องทบทวนการทำงานของกลุ่มใหม่ว่าจะต้องทำเครื่องแกงให้ได้มาตรฐานทั้งคุณภาพและราคา”

สำหรับกระบวนการพัฒนาสูตรพริกแกงที่มีคุณภาพ รสชาติเป็นเอกลักษณ์ จะเน้นใช้กระบวนการ ‘พูดคุยและลงมือทำ’ เพื่อให้เกิดความรู้ ความเชี่ยวชาญ รวมถึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้กลุ่มเป้าหมาย ที่สำคัญ ยังดึง ‘กระบวนการวิจัย’ มาใช้เป็นกลยุทธ์ในการสร้างสูตรเครื่องแกงที่ได้มาตรฐาน

นางสาวตูแวคอดีเย๊าะ เล่าว่า ช่วงแรกแต่ละบ้านก็มีสูตรของตัวเองที่คุ้นลิ้นกันมานาน รู้ว่าใส่อะไรบ้าง แต่ไม่สามารถบอกสัดส่วนของวัตถุดิบได้ จึงใช้วิธีชักชวนให้ลงมือทำซ้ำ ๆ จนกระทั่งมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน และได้สูตรพริกแกงที่เกิดจากภูมิปัญญาของสมาชิกในกลุ่ม เช่น แกงเนื้อ ต้องเอาเนื้อมาให้เห็น เขาจะรู้ว่าเนื้อปริมาณเท่านี้ ใช้เครื่องแกงเท่าไร

ใช้ ‘กระบวนการวิจัย’ เป็น ‘เครื่องมือ’ ให้กลุ่มเป้าหมายจดรายละเอียดทุกขั้นตอน สิ่งที่ได้ก็คือสูตรแกงเผ็ด แกงส้ม แกงมัสมั่น แกงเขียวหวาน จุดเด่นคือ เผ็ดกลางและได้รสสัมผัสแบบถึงเครื่อง นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาพริกแกงแกงส้มจากที่เก็บไว้ได้ไม่นาน เพราะมีความชื้น เนื้อพริกแกงแฉะ ก็ใช้ภูมิปัญญาชุมชนที่ช่วยกันทำซ้ำๆ เพิ่มส่วนผสมวัตถุดิบ จนได้พริกแกงแกงส้มรสชาติกลมกล่อม และเก็บไว้ได้นานขึ้น ซึ่งแตกต่างจากแกงส้มทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด

ผลิต

ทั้งนี้ ในระหว่างทำงาน ยังมี ‘ภาคีเครือข่าย’ จากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับสินค้าเครื่องแกง มาให้ความรู้เรื่องการเพิ่มน้ำหนักสินค้า การยืดอายุ และการเลือกใช้วัตถุดิบเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องแกงที่เหมาะสมต่อการจำหน่าย

ไม่เพียงพัฒนาสูตรเครื่องแกงพื้นบ้านได้หลากหลายชนิดเท่านั้น แต่โครงการนี้ยังมีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องแกงและพัฒนาสินค้าเกษตรสู่ตลาด ด้วยการส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายหันมา ‘ปลูกผักปลอดสาร’ สำหรับนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำ ‘เครื่องแกงปลอดภัย’ โดยดึงคนที่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรอินทรีย์ของชุมชนมาถ่ายทอดความรู้

นางสาวตูแวคอดีเย๊าะ เล่าว่า ในพื้นที่ตำบลดาโต๊ะเป็นพื้นที่การเกษตร ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ 40 คน เราได้พาปราชญ์ชาวบ้านมาให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ สอนวิธีปลูกข่า ตะไคร้ พริก ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของการผลิตเครื่องแกง ซึ่งทำให้ขณะนี้กระบวนการผลิตเครื่องแกงของกลุ่มมีครบวงจร ทั้งฝ่ายปลูก ฝ่ายผลิต และฝ่ายขาย โดยฝ่ายผลิตที่เป็นสมาชิกกลุ่มจะสลับกันเข้ามาทำงาน ได้ค่าแรงวันละ 100 บาท เฉลี่ยเดือนละ 1,500 บาท ฝ่ายขายมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่น และฝ่ายปลูกเกิดรายได้เพิ่มเดือนละ 2,000 บาท

จากการทำงานซึ่งใช้กระบวนการวิจัยควบคู่ไปกับการลงมือทำซ้ำๆ จนเกิดความเชี่ยวชาญ ทำให้กลุ่มเป้าหมายได้เรียนรู้และสามารถพัฒนาเครื่องแกงซึ่งเป็นสูตรเฉพาะที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนได้สำเร็จ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เครื่องแกงที่กลุ่มผลิตขึ้นมี 2 รูปแบบ คือ แบบถุงและแบบกระปุก วางจำหน่ายในจังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลา โดยฝากขายผ่านร้านค้าเครือข่ายชุมชน 49 แห่ง รวมทั้งขายผ่านออนไลน์บนเพจ ‘เจ๊ะฆูลา’ ซึ่งมีราคาขายส่งกิโลกรัมละ 160 บาท

“ที่ภูมิใจคือพริกแกงเราอร่อย” นางต่วนซารีป๊ะ ยือแระ อายุ 52 ปี อาชีพเกษตร กลุ่มเป้าหมาย เล่าเสริมและบอกว่า “ทุกครั้งที่เห็นเครื่องแกงของกลุ่มขายบนรถปลาและในร้านค้า จะดีใจมาก เคยเจอคนในร้านค้า เขาถามหาพริกแกงของเจ๊ะฆูลา และบอกว่าอร่อย พอได้ยินแล้วอิ่มใจมาก”

วัตถุดิบ

ผลลัพธ์ของโครงการใช่จะมีเพียงแค่รายได้ เพราะระหว่างลงมือปอกหอม กระเทียม หั่นข่า ตะไคร้ ตำเครื่องแกง สมาชิกในกลุ่มยังได้ปรับทุกข์ ได้ระบาย ทำให้ได้แลกเปลี่ยนและให้กำลังใจกัน จนกลายเป็นวิถีชีวิตของผู้หญิงมุสลิมที่ ‘ช่วยเหลือกันผ่านกระบวนการเครื่องแกง’

นางซีตีมีสะ บอเนาะ อายุ 55 ปี อาชีพเกษตร กลุ่มเป้าหมาย เล่าว่า เธอสนใจมาเข้าร่วมโครงการเพราะหลังจากกรีดยางเสร็จในช่วงสายของทุกวัน ก็มีเวลาว่าง อยากมีอาชีพเสริม เพราะอยู่บ้านเฉยๆ ก็เครียด เวลามาเจอกลุ่มเพื่อนๆ ได้ระบาย ได้คุย ปลดปล่อยให้เพื่อนฟัง ได้แบ่งปันสูตรเครื่องแกงที่รู้มา มาถึงวันนี้อยากทำเครื่องแกงให้นานที่สุด เพราะมีกลุ่มเกิดขึ้นแล้ว

เช่นเดียวกับ นางซีย๊ะ เจ๊ะปอ อายุ 64 ปี อาชีพรับจ้าง กลุ่มเป้าหมายโครงการ ที่บอกว่า มาทำเครื่องแกงทำให้มีรายได้เสริมจากรายได้หลัก คือ การรับจ้างกรีดยาง ทำให้มีเงินซื้อกับข้าวเพิ่มเติม แต่ที่มากกว่านั้นคือได้เจอเพื่อน มีความสุข

นอกจากนี้ พวกเขายังมี ‘ทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตร’ เห็นคุณค่าของการปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างผลผลิตไว้กินใช้ในครัวเรือนมากขึ้นด้วย

นางสาวตูแวคอดีเย๊าะ ยอมรับว่า จากเดิมที่ชาวบ้านเคยซื้อทุกอย่างบนรถเร่ขายกับข้าว ไม่อยากลงมือปลูกเอง เพราะเคยชินกับวิถีแบบนี้ เมื่อผ่านกระบวนการฝึกทักษะอาชีพจากโครงการ กลุ่มเป้าหมายก็เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาลงมือปลูกผัก ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในชุมชน

โครงการนี้เป็นกิจกรรมแรกของชุมชนที่มีการรวมกลุ่มอาชีพอย่างจริงจัง มีการศึกษาต้นทุน และการตลาด เครื่องแกงจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เข้ามาค้นหาตัวเอง เพื่อต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัย ทั้งของคาวและของหวาน ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ที่ผ่านมาบางพื้นที่ในชุมชนสกปรก เพราะคิดว่าขยะเป็นหน้าที่ของ อบต. เราจึงนำมาเชื่อมโยงกับเครื่องแกงว่า ถ้าต้องการทำเครื่องแกงให้สะอาด ชุมชนต้องสะอาดด้วย หลังจากพูดคุยกัน ได้ข้อสรุปว่า ทุกคนต้องช่วยกันทำความสะอาด โดยไม่เกี่ยงว่าเป็นหน้าบ้านใคร บนแนวคิดเพื่อนบ้านช่วยเพื่อนบ้านสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ในชุมชนดีขึ้น

ในอนาคตแม้จะไม่มีทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กสศ. แต่กลุ่มเป้าหมายและสมาชิกวิสาหกิจชุมชนนีปิสกูเละเชื่อว่า พวกเขาจะสามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ทั้งการขยายตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม เพราะค้นพบแล้วว่า ‘เครื่องแกง’ คือจุดเริ่มต้นของรายได้และความสุขของชุมชนนีปิสกูเละ แห่งนี้