เผยแพร่ |
---|
แรร์ไอเท็ม นิทรรศการ เยี่ยมเยือนเมืองสยาม ย้อนเวลาไปกับหนังสือหายาก
เมื่อเร็วๆ นี้ คุณกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการหนังสือหายากของหอสมุดแห่งชาติ เรื่อง “เยี่ยมเยือนเมืองสยาม ย้อนเวลาไปกับหนังสือหายาก” ณ ห้องวชิรญาณ 2-3 อาคาร 2 ชั้น 1 สำนักหอสมุดแห่งชาติ ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า หนังสือหายากของหอสมุดแห่งชาติ มีลักษณะไม่เหมือนกับหนังสือหายากทั่วไป หนังสือส่วนใหญ่ เป็นสมบัติส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้พระราชทาน ประทาน และบริจาคให้หอพระสมุดวชิรญาณ รวมทั้งหนังสือที่หอพระสมุด วชิรญาณจัดพิมพ์และจัดหาให้บริการ หนังสือเหล่านี้แสดงให้เห็นวิวัฒนาการของภาษาและการพิมพ์
บางเล่ม มีการผลิตอย่างประณีตสวยงามด้วยวัสดุอันมีค่า บางเล่มมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิทยาการต่างๆ ในอดีต ซึ่งไม่สามารถหาได้ในหนังสือปัจจุบัน และที่สำคัญที่สุดคือ ได้แสดงถึงประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการด้านการเมือง การปกครอง พระราชกรณียกิจ วัฒนธรรมประเพณี บันทึกการเดินทางของชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย สนธิสัญญาต่างๆ บันทึกการเดินทางท่องเที่ยวเยี่ยมเยือนเมืองสยามของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนประชาชนทั่วไป
ซึ่งเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่สำคัญ การจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้จะทำให้ ผู้เข้าชมนิทรรศการได้รับความรู้และรู้สึกถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์ไทย สังคมไทยหลายยุคหลายสมัย และคุณค่าหนังสือหายากของหอสมุดแห่งชาติที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ ทางสำนักหอสมุดแห่งชาติ จัดนิทรรศการ เรื่อง “เยี่ยมเยือนเมืองสยาม ย้อนเวลาไปกับหนังสือหายาก” แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 “หนังสือหา(ไม่)ยาก” จัดแสดงเกี่ยวกับข้อมูลหนังสือหายาก ของหอสมุดแห่งชาติ คุณค่าและความสำคัญ ลักษณะหนังสือหายาก 12 ประเภท พร้อมตัวอย่างหนังสือประกอบ
ส่วนที่ 2 “เยี่ยมเยือนเมืองสยาม” เนื้อหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเมืองสยาม ประวัติความเป็นมาของการท่องเที่ยว รูปแบบการเดินทางท่องเที่ยว ประโยชน์ของการเที่ยว การเสด็จประพาสในรัชสมัยต่างๆ การท่องเที่ยวทั่วไทย โดยผ่านหนังสือหายาก จัดแสดงหนังสือพร้อมภาพการเดินทางและสถานที่ท่องเที่ยวประกอบ
ส่วนที่ 3 “เพราะหนังสือจึงรังสรรค์” การนำหนังสือหายากมารังสรรค์และต่อยอด โดยนำไปพัฒนาจัดทำเป็นของที่ระลึกในโอกาสต่างๆ ได้แก่ การพิมพ์หนังสือ (Reprint) ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ต้นฉบับและสืบทอดอายุหนังสือให้คงอยู่ต่อไป การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ โดยนำลักษณะเด่นของหนังสือหายากมาสร้างสรรค์เป็นผลงานในรูปแบบต่างๆ เช่น เข็มกลัด แฟ้มใส่เอกสาร ไปรษณียบัตร และการส่งเสริมการเรียนรู้ ด้วยการนำเนื้อหาในหนังสือมาประยุกต์เป็นเกมส่งเสริมการเรียนรู้