ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในปี 2560 นี้กรมสรรพากรจัดทำโครงการนำร่องสำหรับโครงการระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์(e –tax) เป็นหนึ่งในโครงการอีเพย์เมนต์ โดยจะนำร่องกับบริษัทขนาดใหญ่ 100 แห่ง มียอดขายมากว่า 500 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อเริ่มทอลองใช้ระบบรับ-ส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์(e-tax invoice) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ ไม่ต้องพิมพ์ใบกำกับภาษี และไม่ต้องจัดเก็บใบกำกับภาษี บางบริษัทต้องเช่าโกดังขนาดใหญ่ในการจัดเก็บใบกำกับภาษี เพื่อเอาไว้ตรวจสอบเป็นเวลาถึง 10 ปี มีค่าใช้จ่ายเช่าโกดังเก็บเอกสารปีละถึง 10 ล้านบาท
“ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยลดต้นทุน จากปัจจุบันเมื่อผู้ประกอบการ ขายสินค้าได้ ก็จะออกใบเสร็จ ต้องทำสำเนา 3 ฉบับ ,ฉบับแรกให้กับผู้ซื้อเก็บไว้,ฉบับที่สองให้ฝ่ายการเงินของบริษัทเก็บไว้ และฉบับสุดท้าย เพื่อเป็นหลักฐานการรายงานภาษีขาย กับกรมสรรพากร และภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปต้องรวบรวมภาษีซื้อและภาษีขาย เพื่อยื่นกรมสรรพากร ว่าจะการขอคืนภาษีหรือจ่ายภาษีเพิ่มเติม”นายประสงค์ กล่าว
นายประสงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีจำนวนนิติบุคคลประมาณ 6 แสนราย บริษัทที่ยอดขายเกิน 500 ล้านบาท ประมาณ 3 % หรือ 1.8 หมื่นราย ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกที่จะให้ใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ โดยกลุ่ม 100 บริษัทจะนำมาทดสอบความพร้อม เพื่อดูว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ เป็นการเตรียมพร้อมผู้ประกอบการและระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2561
นายประสงค์ กล่าวว่า กระบวนการการรับส่งใบกำกับภาษอิเล็กทรอนิกส์นั้น จะเกิดขึ้นเมื่อตกลงซื้อขายสินค้าระหว่างกัน ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้ระบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)เร็วขึ้น จากเดิมต้องรอเอกสารจากผู้ประกอบการให้ครบถ้วนก่อนพิจารณาว่าจะคืนหรือเรียกเก็บภาษีเพิ่ม ทำให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนในการไปหมุนเวียนทำธุรกิจต่อไป และทำให้กรมการเก็บแวตของกรมเป็นระบบ ลดการรั่วไหลมากขึ้น