ชี้ช่องเทรนด์อาชีพ ปี 2560 รู้ทัน ไม่ตกงาน

เริ่มศักราชใหม่ 2560 กระทรวงแรงงานแจ้งเตือนนายจ้าง ผู้ประกอบการ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำให้กับลูกจ้างตามประกาศค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ ที่ปรับขึ้น 5-10 บาท ทุกจังหวัด ยกเว้น 8 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ระนอง และสิงห์บุรี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม เป็นต้นไป แต่หากไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่สำหรับบางคนที่ยังไม่มีงาน ต้องการมองหางาน หรืออยากเปลี่ยนงานใหม่ กรุณาตรวจสอบความต้องการของตลาดแรงงาน ปี 2560 เพื่อเสริมโอกาสในการได้งานได้อาชีพใหม่นับจากบรรทัดนี้

นายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานไทยในช่วงปี 2559 ว่าสถานการณ์การว่างงานยังไม่เด่นชัดมากนัก จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 พบว่ากำลังแรงงานมีจำนวนประมาณ 38.11 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ จำนวน 37.66 ล้านคน ผู้ว่างงาน จำนวน 3.78 แสนคน ซึ่งคิดเป็นอัตราว่างงาน ร้อยละ 1 และแรงงานที่รอฤดูกาลอีก จำนวน 7.36 หมื่นคน

“จะเห็นว่าอัตราว่างงานไม่ได้มาก แต่ที่ยังมีคนว่างงาน ส่วนหนึ่งเพราะจบมาไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะพบว่ามีบางอาชีพยังขาดแคลนอยู่จำนวนหนึ่ง โดยความต้องการแรงงานในประเทศพบว่าเดือนธันวาคม 2559 นายจ้าง/สถานประกอบการ มีความต้องการแรงงาน จำนวน 37,303 อัตรา มีผู้สมัครงาน จำนวน 10,126 คน และมีผู้ได้รับการบรรจุงาน จำนวน 18,451 คน โดยตัวเลขการบรรจุงานมากกว่าผู้สมัครงาน เนื่องจากเป็นการบรรจุงานจากเดือนก่อนๆ” นายสิงหเดชกล่าว และว่า ส่วนการเลิกจ้างนั้น จากสถิติผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเดือนพฤศจิกายน 2559 พบว่ามีจำนวน 146,168 คน โดยมีผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานโดยการลาออก จำนวน 106,840 คน ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานโดยการสิ้นสุดสัญญาจ้างจำนวน 8,734 คน และผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานโดยการเลิกจ้าง จำนวน 30,594 คน

จากตัวเลขข้างต้น หากถามแล้วอาชีพใดจะมาแรงในปี 2560

นายสิงหเดชบอกว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ จำนวน 10 อุตสาหกรรม สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 1.การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีฐานที่แข็งแรง แต่ต้องต่อยอดการลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้มีการวิจัยและพัฒนา เพื่อยกอุตสาหกรรมสู่ระดับนานาชาติ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

2.การเติม 5 อุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน และมีผู้สนใจลงทุน ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

จากแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้ นายสิงหเดชกล่าวเพิ่มเติมว่า ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านอาชีพที่จะเกิดในอนาคต โดย กกจ.ได้ทำการวิเคราะห์ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอาชีพในปี 2558-2562 พบว่า มีอาชีพที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 10 อันดับแรก ดังนี้

1.นักบำบัดด้านการฟังและการพูด 2.นักกายภาพบำบัด 3.ครูสอนขับรถ 4.เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยแพทย์ 5.แพทย์ชำนาญการเฉพาะทาง 6.เลขานุการทางการแพทย์ 7.เจ้าหน้าที่เทคนิคบันทึกข้อมูลทางการแพทย์ และข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ 8.ผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาล 9.ผู้จัดการฝ่ายบริการดูแลผู้สูงอายุ และ 10.พยาบาลวิชาชีพ

นายสิงหเดชกล่าวว่า จะเห็นได้ว่าอาชีพส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสุขภาพและการสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมามีการวิเคราะห์อาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการมากที่สุดในปี 2016 ซึ่งในต่างประเทศวิเคราะห์ไว้ โดย Career Builder ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของสหรัฐอเมริกา พบ 10 อันดับ ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพ นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นและซอฟต์แวร์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ผู้จัดการฝ่ายขาย บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ดูแลและบริหารระบบเครือข่าย วิศวกรอุตสาหกรรม นักวิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ นักพัฒนาเว็บไซต์ และผู้จัดการฝ่ายการเงิน

“ดังนั้นขอแนะนำสำหรับเยาวชนที่จะเลือกเรียนสาขาวิชาต่างๆ ในปัจจุบัน ควรพิจารณาข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้รอบด้าน เช่น ข้อมูลด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และการก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 และยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่ประเทศไทย 4.0

“สรุปคือ เยาวชนยุคนี้ควรเรียนเน้น 4 ด้านหลักๆ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์” นายสิงหเดชกล่าว

แต่เมื่อถามว่าแต่ส่วนใหญ่นักศึกษาหลายคนยังจบมาไม่มีงานทำ นายสิงหเดชกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนินการจัดทำหลักสูตรที่ตรงกับตลาดแรงงาน รวมทั้งได้จัดทำการทดสอบความถนัดทางอาชีพ สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาต่อ ซึ่งในสถาบันการศึกษา โรงเรียนต่างๆ จะมีให้นักเรียนทดสอบอยู่แล้ว

หรือเข้ามาศึกษาข้อมูลด้านแรงงานต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน www.doe.go.th