น่าเป็นห่วง ควบคุมการใช้ประโยชน์จากกัญชา หลังถอดออกจากยาเสพติดให้โทษ

น่าเป็นห่วง ควบคุมการใช้ประโยชน์จากกัญชา หลังถอดออกจากยาเสพติดให้โทษ
น่าเป็นห่วง ควบคุมการใช้ประโยชน์จากกัญชา หลังถอดออกจากยาเสพติดให้โทษ

น่าเป็นห่วง ควบคุมการใช้ประโยชน์จากกัญชา หลังถอดออกจากยาเสพติดให้โทษ

รศ.ดร.ภญ.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ประธานวิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มีมติเห็นชอบให้ถอดพืชกัญชาออกจากรายการยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และเห็นชอบให้ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. …. คือ สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ยกเว้นที่ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ คือ ก. สารสกัดจากพืชกัญชา กัญชง เฉพาะที่ได้จากการอนุญาตปลูกในประเทศ ในทุกส่วนที่มีปริมาณสาร THC ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก และ ข. สารสกัดจากเมล็ดกัญชา กัญชง ที่ได้จากการปลูกในประเทศเช่นกัน

รศ.ดร.ภญ.นพมาศ กล่าวว่า วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาเภสัชกรรมสมุนไพร ได้ติดตามข้อมูลข่าวสารทั้งในด้านประโยชน์และโทษของพืชกัญชา รวมถึงระบบการควบคุมกำกับทั้งในและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ขอแสดงความเห็นต่อการเสนอให้ถอดพืชกัญชาออกจากรายการยาเสพติดให้โทษ ดังนี้

รศ.ดร.ภญ.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ประธานวิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย

หนึ่ง พืชกัญชา มีสาร THC หรือ Tetrahydrocannabinoid ที่อาจทำให้เกิดการเสพติด หากใช้ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เยาวชน และ ผู้ป่วยโรคทางจิตเวช จึงควรต้องมีการควบคุมการใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าผลเสีย

สอง พืชกัญชา เป็นสมุนไพรประจำถิ่นของประเทศไทย ที่มีศักยภาพทั้งในการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสร้างเศรษฐกิจของประเทศ จึงควรได้รับการส่งเสริมให้เกิดการนำมาใช้ประโยชน์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย จึงขอเสนอให้มีการพัฒนากฎหมายเพื่อควบคุมกำกับการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชาเป็นการเฉพาะ โดยในระหว่างที่รอการพัฒนาและออกกฎหมายใหม่ ควรให้คงพืชกัญชาไว้ในรายการยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ไปพลางก่อน เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการควบคุมกำกับ

ขณะเดียวกัน การออกกฎหมายเฉพาะนี้ ควรมีข้อบัญญัติที่ไม่ขัดกับข้อตกลงทางกฎหมายระหว่างประเทศ และควรเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาวิจัยผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากพืชกัญชาที่มีถิ่นกำเนิดภายในประเทศ ซึ่งการออกกฎหมายในลักษณะนี้พบได้ในบางประเทศ เช่น แคนาดา เป็นต้น