ขับลงเขาระวังเบรกไหม้ วิธีแก้ทำไง !!?

เมื่อเร็วๆ นี้ เกิดเหตุนักท่องเที่ยวขับรถลงมาจากดอยอ่างขาง เกิดเบรกไหม้รถเสียหลักชนเสาไฟฟ้าตกเหวข้างทาง เป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ที่ขับรถขึ้นเขาขึ้นดอย จำต้องเรียนรู้การควบคุมรถให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดอาการเบรกไหม้ตามมา

เบรกไหม้เกิดจากการเหยียบเบรกค้างไว้ตลอด ดูจากไฟเบรกท้ายสว่างตลอดเวลา แต่รถอาจจะไหลไปได้เรื่อยๆ เกิดความร้อนสะสมเลยไหม้ ส่วนใหญ่ขับแบบไม่ได้ใช้เกียร์ต่ำลงเขาหรือเอ็นจิ้นเบรก เป็นการใช้กำลังเครื่องยนต์คอยช่วยฉุดไว้ เลยต้องใช้เบรกตลอดเส้นทาง ทำให้ผ้าเบรกไหม้

เบรกไหม้ไม่ใช่อาการไฟลุกผ้าเบรกจนเกลี้ยงแบบไหม้สิ่งของ แต่เป็นเกิดความร้อนสะสมที่ผ้าเบรกมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่ง จุดที่ความฝืดของผ้าเบรกหมดไป ทำให้มันจับจานเบรกไม่อยู่ อาการที่ผู้ขับขี่จะรับรู้ได้ก็คือ กลิ่นเหม็นไหม้มาก่อน ตามด้วยอาการเบรกจม กดเบรกติดพื้นรถ รถก็เบรกไม่อยู่

ถ้าถามว่าเบรกต่อเนื่องนานแค่ไหนถึงจะไหม้ คงตอบลำบาก เพราะรถแต่ละรุ่นจานเบรก ผ้าเบรก น้ำหนักรถ น้ำหนักบรรทุก ไม่เท่ากัน แต่หากยังใช้เบรกและขับด้วยเกียร์ปกติ เบรกไหม้แน่นอน

ยกตัวอย่าง นอกจากดอยอ่างขาง เชียงใหม่แล้ว ภูทับเบิก เพชรบูรณ์ ก็เป็นอีกแห่งที่มีเส้นทางลงเขาระยะทาง 10 กว่ากิโล หากใช้เกียร์ปกติ จำเป็นต้องใช้เบรกตลอดเส้นทาง เพราะโค้งเยอะมาก และชันมาก

ดังนั้น เมื่อขับขึ้นหรือลงเขาหรือทางชันเมื่อไหร่ ควรใช้เกียร์ต่ำ ทดลงมาจากเกียร์ปกติ ไม่ว่าจะ D2, D1 หรือ 2 หรือ 1 ขึ้นอยู่กับรุ่นรถ

นอกจากนี้หากขับรถด้วยความเร็วสูงประมาณ 180-190 กม./ชม. แล้วแตะเบรกเลียไว้เบาๆ ประมาณ 3-4 วินาที หากเป็นเบรกทั่วไปไหม้แน่นอน คือถ้าเบรกผิดวิธีก็ไหม้ได้ง่ายๆ หรือแม้แต่เป็นผ้าเบรกทนความร้อนสูง แต่หากไปเลียเบรกลงเขา ยังไงก็ไหม้

วิธีแก้ไม่ใช่การเปลี่ยนผ้าเบรก แต่ควรเปลี่ยนวิธีเบรก การใช้เกียร์ที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญในการขับรถขึ้น-ลงเขา

ทางที่ดีคือเมื่อได้กลิ่นผ้าเบรกไหม้ ควรจอดรถดู ยิ่งถ้าควันขึ้นที่เบรกก็ควรพักรถ จนกว่าเบรกจะเย็นลง ถ้าระยะทางยาวมากๆ ก็ควรพักรถเป็นระยะๆ และเช็กดูน้ำมันเบรกกันบ้าง เปลี่ยนครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ควรจะเปลี่ยนตามระยะเวลาที่กำหนด

นอกจากนี้ การขับรถลงเขาแล้วเลียเบรกแตะเบรก โดยไม่ใช้เกียร์ช่วยจนเบรกไหม้เบรกเฟดไม่ใช่เรื่องเดียว แต่อาจทำให้น้ำมันเบรกเดือด ก็มีส่วนให้เบรกแตกได้อีกต่างหาก