ฟู้ดดีลิเวอรี่ ก่อขยะพลาสติกมหาศาล เทียบเท่าน้ำหนักช้าง 1.3 หมื่นเชือก 

ฟู้ดดีลิเวอรี่ ก่อขยะพลาสติกมหาศาล เทียบเท่าน้ำหนักช้าง 1.3 หมื่นเชือก 
ฟู้ดดีลิเวอรี่ ก่อขยะพลาสติกมหาศาล เทียบเท่าน้ำหนักช้าง 1.3 หมื่นเชือก 

ฟู้ดดีลิเวอรี่ ก่อขยะพลาสติกมหาศาล เทียบเท่าน้ำหนักช้าง 1.3 หมื่นเชือก 

ในช่วงที่ 2 ปีที่ผ่านมานี้ ความนิยมในการบริการสั่งอาหารแบบส่งตรงถึงที่พักหรือฟู้ดดีลิเวอรี่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงมาตรการ Work From Home ที่ทำให้ประชาชนนิยมสั่งอาหารไปรับประทานที่บ้าน ซึ่งการขยายตัวของฟู้ดดีลิเวอรี่ดังกล่าว มาพร้อมกับผลกระทบต่อปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มสูงขึ้น

จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในช่วงเดือน ม.ค.- เม.ย. 2564 ปริมาณขยะได้เพิ่มขึ้นเป็น 9,600 ตัน/วัน จาก 8,800 ตัน/วัน เมื่อเทียบในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอัตราการเกิดขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นจาก 96 กรัม/คน/วัน ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิดในปี 2562 เป็น 139 กรัม/คน/วัน ในปัจจุบัน หรือหากเทียบเคียงจำนวนชิ้นของขยะพลาสติก พบว่า อัตราเฉลี่ยได้เพิ่มขึ้นจาก 7 ชิ้น เป็น 9 ชิ้น ซึ่งขยะพลาสติกดังกล่าวสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้เพียงร้อยละ 25 ของปริมาณขยะพลาสติกหลังการบริโภค 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประมาณการการขยายตัวของธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ในปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 4.5 โดยมีมูลค่าสูงถึง 7.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเติบโตของธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ดังกล่าวนี้ อาจมาควบคู่กับขยะพลาสติกที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2565 เป็นปริมาณสูงถึง 3,684 ล้านชิ้น หรือคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 55,260 ตัน หรือเทียบเท่ากับน้ำหนักของช้างถึงจำนวน 13,815 เชือก 

ทั้งนี้ หากคิด Carbon Footprint หรือปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการใช้พลาสติกจำนวนดังกล่าว จะอยู่ที่ 331,560 ตัน และคาดว่าขยะพลาสติกจากฟู้ดดีลิเวอรี่ที่จะไม่ได้นำกลับมาใช้ประโยชน์เนื่องจากไม่ได้รับการคัดแยกขยะจากต้นทางที่ถูกวิธี (สัดส่วนประมาณร้อยละ 75) มีมูลค่าสูงถึง 174 ล้านบาท

ทั้งนี้ ภาครัฐได้มีเป้าหมายในปี 2565 ที่จะลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ส่งกำจัดร้อยละ 30 และเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 4 ชนิด ได้แก่ 1. ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน 2. กล่องโฟมบรรจุอาหาร 3. แก้วพลาสติก ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และ 4. หลอดพลาสติก และสนับสนุนการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมให้มีการนำพลาสติก 7 ชนิด กลับมารีไซเคิลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้แก่ 1. ถุงพลาสติกหูหิ้ว 2. บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว 3. ขวดพลาสติกทุกชนิด 4. ฝาขวด 5. แก้วพลาสติก 6. ถาด/กล่องอาหาร และ 7. ช้อน/ส้อม/มีดพลาสติก ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565)  

อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวของภาครัฐไม่ได้มีการออกเป็นกฎหมายหรือมาตรการบังคับใช้กับประชาชนดังเช่นในต่างประเทศ อาทิ ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น หรือ จีน ที่มีมาตรการห้ามการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมถึงมาตรการในการคัดแยกขยะรีไซเคิลที่เข้มงวด

ดังนั้น หากจะให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในประเทศไทย ทุกภาคส่วนจะต้องตระหนักถึงปัญหาและร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดปริมาณขยะและคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี อันจะช่วยให้กระบวนการกำจัดขยะมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน