จับตา ธุรกิจร้านอาหาร ปีเสือ กลับมาเติบโต 5.0-9.9% หลังหดตัวมา 2 ปี 

จับตา ธุรกิจร้านอาหาร ปีเสือ กลับมาเติบโต 5.0-9.9% หลังหดตัวมา 2 ปี 
จับตา ธุรกิจร้านอาหาร ปีเสือ กลับมาเติบโต 5.0-9.9% หลังหดตัวมา 2 ปี 

จับตา ธุรกิจร้านอาหาร ปีเสือ กลับมาเติบโต 5.0-9.9% หลังหดตัวมา 2 ปี 

ธุรกิจร้านอาหารปี 2565 ยังเป็นปีที่ต้องระมัดระวัง เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงการระบาดของโควิด-19 กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่กลับมาฟื้นตัวดี แต่ก็มีปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ “มาตรการคนละครึ่งเฟส 4” 

ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปี 2565 ธุรกิจร้านอาหารน่าจะมีมูลค่ารวมราว 3.78-3.96 แสนล้านบาท พลิกกลับมาขยายตัว 5.0-9.9% (ส่วนหนึ่งเป็นผลของราคาอาหารที่สูงขึ้นและเงินเฟ้อ) จากที่หดตัว 11.0% ในปี 2564 แต่เป็นการขยายตัวเฉพาะกลุ่มหรือประเภทร้านอาหาร ตามปัจจัยเฉพาะที่ต่างกัน ดังนี้

1. ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ เติบโตเร่งขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีก่อน ร้านอาหารที่ทยอยฟื้นตัวก่อนคือร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารที่มีชื่อเสียง รวมถึงในพื้นที่ท่องเที่ยว โดยคาดว่าจะมีมูลค่ายอดขายอยู่ที่ 1.31-1.42 แสนล้านบาท ขยายตัว 10.0-19.5%

2. ร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด ขยายตัวจากการขยายสาขาร้านอาหารจานด่วนและร้านอาหารขนาดเล็กที่น่าจะเปิดตัวมากขึ้นกว่าปี 2564 โดยพื้นที่เป้าหมายเป็นเขตที่อยู่อาศัยและปั๊มน้ำมันทั้งในกรุงเทพฯ รอบนอก ปริมณฑล และหัวเมืองหลัก ทำให้คาดว่าจะมีมูลค่ายอดขายอยู่ที่ 6.4-6.8 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 4.6-11.8%

3. ร้านอาหารข้างทางที่มีหน้าร้าน ขยายตัวได้ต่อเนื่องและยังได้รับปัจจัยหนุนจากโครงการคนละครึ่ง โดยคาดว่าจะมีมูลค่ายอดขายอยู่ที่ 1.84-1.86 แสนล้านบาท ขยายตัว 2.0-3.0%

สภาพแวดล้อมของธุรกิจร้านอาหารปี 2565 ที่สำคัญและน่าสนใจ คือ

1. ต้นทุนธุรกิจน่าจะทรงตัวสูงต่อเนื่องทั้งปี แต่การปรับเพิ่มราคาขายยังทำได้จำกัด สร้างแรงกดดันต่อกำไรสุทธิของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนพลังงาน

2. ผู้ประกอบการปรับตัวมาใช้โมเดลร้านอาหารขนาดเล็กเพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยง รวมถึงนำเทคโนโลยีเข้ามาผสานเป็นหัวใจสำคัญในห่วงโซ่ธุรกิจร้านอาหาร

3. ผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่ทั้งในและนอกอุตสาหกรรมจะขยายการลงทุนในธุรกิจร้านอาหารมากขึ้นทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอก ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยเฉพาะที่ที่มีการกระจุกตัวของที่อยู่อาศัย

4. ความเสี่ยงของโควิดทำให้ผู้ประกอบการต้องรักษาสมดุลของช่องทางการขายและเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ ไปยังสินค้าอื่นมากยิ่งขึ้น