โรคระบาดทำเกษตรกรเลี้ยงหมู ไปไม่รอด แนะ ‘หมูหลุม’ ทางรอดวิกฤตอาหาร

โรคระบาดทำเกษตรกรเลี้ยงหมู ไปไม่รอด แนะ ‘หมูหลุม’ ทางรอดวิกฤตอาหาร

ท่ามกลางวิกฤตราคาสินค้าอุปโภคบริโภคกำลังขึ้นไปอย่างเป็นที่น่ากังวลต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการขายอาหาร เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามารับรู้ปัญหาด้วยตนเองและรีบแก้ไขก่อนผู้ประกอบการขายอาหารต้องปิดกิจการ ในขณะที่เกษตรกรเลี้ยงหมูโอดโอยถึงเหตุโรคอหิวาต์แอฟริกา (ASF) ระบาด ทำให้เกษตรกรเลี้ยงหมูล้มหายตายจากไปแล้วมากกว่าร้อยละ 80-90 และด้วยเหตุนี้ ราคาเนื้อหมูในประเทศกำลังพุ่งสูงติดอันดับโลก ส่วนนักวิชาการชี้ว่าหากไม่แก้ปัญหาโดยเร็ว อุตสาหกรรมเลี้ยงหมูจะตกไปสู่มือผู้เลี้ยงรายใหญ่เท่านั้น

เพื่อเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาวิกฤตหมูแพง สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เสนอชุมชนต่างๆ หันมาสร้างทักษะเลี้ยงหมูหลุม คือการเลี้ยงหมูแบบเดิมที่ผู้เลี้ยงไม่อยากให้หมูวิ่งเพ่นพ่าน พื้นที่เลี้ยงน้อย จึงขุดหลุมลึกประมาณ 1.5-2 เมตร เพื่อเป็นคอกสำหรับเลี้ยงหมู โดยมีวัสดุรองพื้นหลุม และอาหารหมู เป็นสิ่งที่หาได้ตามท้องถิ่นนั้นๆ

คุณวิเชียร เจษฎากานต์ ประธานเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม SVN กล่าวว่า การระบาดส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูร้อยละ 80-90 ไปไม่รอด ไม่ต้องหวังว่าเกษตรกรรายย่อยจะยังอยู่ได้ ขนาดฟาร์มใหญ่ที่อยู่ในธุรกิจมานานกว่า 50 ปีปัจจุบันยังถูกฟ้องดำเนินคดีเพื่อให้ชดใช้ค่ายาที่ยังติดค้างอยู่ แม้ในอดีตฟาร์มดังกล่าวถือว่ามีเครดิตดีที่สุดแห่งหนึ่งในไทยก็ตาม หากภาครัฐแก้ไขปัญหาโรคระบาดได้สำเร็จ ไทยอาจต้องใช้เวลาประมาณ 30 เดือนในการทำให้กลไกส่วนต่างๆ กลับมาดำเนินการได้เช่นเดียวกับช่วงก่อนการระบาด

“เราเริ่มพบว่าเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบันใน จ.ราชบุรี ต้องสูญเสียหมูจากการระบาดในครั้งนี้กว่า 2 ล้านตัว แต่ภาครัฐก็ไม่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ใดๆ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวออกมาอย่างชัดเจน ไม่ได้เตรียมการให้คำแนะนำในการกำจัดหมูที่ติดเชื้อแก่เกษตรกร ที่สำคัญ ไม่มีการชดเชยค่าเสียหายแก่เกษตรกรส่งผลให้เกษตรกรต้องเร่งขายหมูที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อออกไปให้เร็วที่สุดเพื่อลดการสูญเสีย ทำให้การกระจายตัวของโรคทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการส่งไปชำแหละในโรงฆ่าเถื่อนที่ไม่ได้รับใบอนุญาตซึ่งรัฐควรเร่งเข้ามาจัดการในกรณีนี้โดยเร็วที่สุด” คุณวิเชียร เรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาแก้ปัญหาเพื่อลดการระบาดโดยเร็ว

ด้าน คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า การลดปริมาณลงของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ทำให้หลายฝ่ายมองว่าอาจเกิดความไม่มั่นคงทางอาหารได้ในอนาคต ดังนั้น การส่งเสริมให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงหมูหรือสนับสนุนให้เกษตรกรที่ไม่เคยเลี้ยง หันมาเริ่มเลี้ยงก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ สอบ. ต้องการเสนอให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

“การส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงหมูหลุมในพื้นที่ที่ไม่เกิดการระบาดอาจเป็นอีกหนึ่งทางออกในการช่วยบรรเทาปัญหา ดังเช่นโมเดลการผลิตไข่ไก่อารมณ์ดีออกสู่ตลาดจนเป็นที่นิยมของผู้บริโภค หรือการที่ผู้บริโภคมีส่วนในการสนับสนุนแม่พันธุ์ไก่และรับไข่ไปรับประทาน การจะเพิ่มโมเดลธุรกิจในลักษณะนี้ให้มากขึ้นก็จะยิ่งเป็นผลดีแก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น หากผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคเนื้อหมูที่ปราศจากสารปฏิชีวนะหรือการใช้ยาในการเลี้ยง ก็อาจจะต้องลงทุนและสนับสนุน และ สอบ. เชื่อว่าอาจจะเป็นอีกหนึ่งทางรอดเพื่อฝ่าวิกฤตราคาหมูไปได้ ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดเข้ามาสนับสนุนด้วยเช่นกัน”

สอดคล้องกับความเห็นของ คุณวิเชียร เจษฎากานต์ ที่ว่า “การเลี้ยงหมูในคอกดินหรือหมูหลุมนั้น สามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่างมาก เพราะเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่ไม่แออัดและได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากเกษตรกร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากการผลิตหลักตกไปอยู่กับบริษัทใหญ่ๆ เพียงไม่กี่บริษัท”