หนี้สะสม จากการใช้สารเคมี ระบบนิเวศ สุขภาพ พัง ทุกข์ของเกษตรกรไทย

หนี้สะสม จากการใช้สารเคมี ระบบนิเวศ สุขภาพ พัง ทุกข์ของเกษตรกรไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาในหัวข้อ “Organic Tourism-Driving organic food system by conscious hospitality businesses” โดยมี รศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ เป็นผู้บรรยาย

รศ.ดร.กฤตินี กล่าวถึงงานวิจัยกับผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหารในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต ที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับปัญหาหลักที่เกษตรกรในประเทศไทยต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้สะสมของเกษตรกรจากการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง ระบบนิเวศเสียหาย และก่อปัญหาสุขภาพตามมา

เนื่องจากอาชีพเกษตรกรเป็น 1 ใน 3 ของประชากรไทย ปัญหาเหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อประเทศและนำไปสู่ปัญหาระบบอาหาร ถึงแม้ว่าความต้องการผลผลิตอินทรีย์มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกระแสความสนใจของตลาด แต่การหาผลิตภัณฑ์ที่น่าเชื่อถือในราคาที่สมเหตุผลยังเป็นความท้าทาย เนื่องมาจากปัญหาการขาดความเชื่อมโยงในห่วงโซ่คุณค่า

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ เช่น สินค้าขาดแคลน ผลผลิตไม่ต่อเนื่อง และคุณภาพไม่คงที่ ปัญหาเหล่านี้ทำให้ รศ.ดร.กฤตินี ร่วมกับหน่วยงานสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (TOCA) สามพรานโมเดล มูลนิธิส่งเสริมสุขภาพแห่งประเทศไทย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมหาแนวทางแก้ไข พัฒนาแนวคิด ส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในห่วงโซ่คุณค่าอาหาร ซึ่งไม่เพียงเกี่ยวข้องกับเกษตรกรและผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวด้วย

ซึ่งการขับเคลื่อนนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อประสานประโยชน์ร่วมกันบนฐานการค้าที่เป็นธรรม และส่งเสริมการเชื่อมห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ เรียกว่าเป็น ‘Organic Tourism Movement’ หรือ การขับเคลื่อนการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์

ทั้งนี้ รศ.ดร.กฤตินี ได้ร่วมวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยงานวิจัยดังกล่าวมีโรงแรม ร้านอาหารในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่เข้าร่วม 20 แห่ง ทำการเก็บข้อมูลด้วยการสังเกตการณ์และสัมภาษณ์ เจ้าของกิจการ GM เชฟ ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ F&B การตลาด ประชาสัมพันธ์

รศ.ดร.กฤตินี ได้อธิบายแนวคิดการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ว่า การที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน มีการซื้อตรงจากเกษตรกร พร้อมการสื่อสารสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภค จะนำไปสู่กระแสการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่พบในการศึกษาวิจัย ได้แก่ การบริหารความสมดุลระหว่างผลตอบแทนทางธุรกิจกับการสร้างความยั่งยืน นำไปสู่ข้อเสนอการพัฒนาโมเดลธุรกิจ

สำหรับงานวิจัยของ รศ.ดร.กฤตินี นั้น ได้เชื่อมโยงปัญหาและประเด็นที่เกิดขึ้นในระดับต่างๆ ของห่วงโซ่อาหาร ซึ่งรวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น บริษัทและพนักงานที่มีหน้าที่ในการจัดหาวัตถุดิบ การจัดซื้อ การผลิต และการตลาด ตลอดจนการแลกเปลี่ยนมุมมองในการใช้กลยุทธ์และกระบวนการเพื่อแก้ไขปัญหา

ผลการวิจัยนำไปสู่การหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงข้อเสนอแนะสำหรับบริษัทต่างๆ ให้เห็นคุณค่าของการจัดการ Value Chain ตลอดจนการทำให้พนักงานมีความเข้าใจและมีส่วนร่วมกับองค์กรมากขึ้น

ซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นผลลัพธ์มาเป็นการมุ่งเน้นที่คุณค่า สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับซัพพลายเออร์ที่เชื่อถือได้ ต้องใส่ใจกับ Product ทุกขั้นตอน ในขณะเดียวกัน การตลาดก็ต้องชวนให้ลูกค้าร่วมเรียนรู้และสนับสนุนผลิตภัณฑ์อินทรีย์และความยั่งยืน