แพงทั้งแผ่นดิน ทางแก้ของผู้ประกอบการ อย่าลดคุณภาพ-ปริมาณ จนลูกค้าหนีหมด

แพงทั้งแผ่นดิน ทางแก้ของผู้ประกอบการ อย่าลดคุณภาพ-ปริมาณ จนลูกค้าหนีหมด
แพงทั้งแผ่นดิน ทางแก้ของผู้ประกอบการ อย่าลดคุณภาพ-ปริมาณ จนลูกค้าหนีหมด

แพงทั้งแผ่นดิน ทางแก้ของผู้ประกอบการ อย่าลดคุณภาพ-ปริมาณ จนลูกค้าหนีหมด

คุณวรวุฒิ อุ่นใจ อดีตประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ผู้ก่อตั้งและเจ้าของออฟฟิศเมท และ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารบีทูเอส ซึ่งได้รับการยอมรับในแวดวงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ว่า เขาคือ เจ้าพ่อเอสเอ็มอี โพสต์ล่าสุดเกี่ยวกับ ปัญหาหมูแพง อาหารแพง ข้าวของแพง ระบุตอนหนึ่งว่า  สิ่งแรก ที่รัฐบาลควรจะต้องทำ คือ ออกมาหาสาเหตุว่าทำไมราคาสินค้าต่างๆ จึงทยอยขึ้นราคา

และเมื่อหาสาเหตุแล้ว อธิบายให้ประชาชนทราบ ยังไม่พอ ต้องมีมาตรการแก้ไขและช่วยเหลือประชาชนออกมาให้ประชาชนรับทราบด้วย ไม่ใช่เงียบ และปล่อยให้ประชาชนรับกรรมและแก้ปัญหากันไปตามมีตามเกิดแบบนี้…

“การเข้าใจและชี้แจงถึงที่มาของปัญหา สะท้อนว่ารัฐเข้าใจที่มาของปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งต้องยอมรับความจริงและไม่โยนกลองกันไปมา แบบกลัวความผิดของหน่วยงานรัฐกันเอง และมีมาตรการตรึงราคาหรือแบ่งเบาภาระประชาชน ออกมาชัดเจนเป็นรูปธรรม ต้องมีมาตรการลงโทษผู้กักตุนและปั่นราคาฉวยโอกาสทำกำไร อย่างเข้มงวด รวดเร็ว” คุณวรวุฒิ ระบุ

และว่า นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนด้วยว่า เนื้อหมูที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดปัจจุบัน สะอาดและปราศจากการติดเชื้อ ด้วยมาตรการตรวจสอบดูแลจากภาครัฐ การพิจารณานำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศเป็นการชั่วคราว เพื่อชดเชยเนื้อหมูที่หายไปจากท้องตลาด ต้องพิจารณาอย่างโปร่งใส ไม่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง และกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการในประเทศต้องเดือดร้อนเมื่อเข้าสู่ภาวะปกติ

คุณวรวุฒิ อุ่นใจ

“เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาหาทางออกทันที ประชาชนถึงจะรับรู้ว่า ยังมีรัฐบาลคอยช่วยเหลือดูแลพวกเขาอยู่…ไม่ว้าเหว่โดดเดี่ยวและรู้สึกว่า กำลังเผชิญปัญหาโดยลำพังแบบตอนนี้ และในระหว่างที่รอมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากภาครัฐ ภาคประชาชนก็คงต้องหาทางช่วยตัวเองกันไปพลางๆ ก่อน ไม่ว่าจะหาวัตถุดิบทดแทนอื่นๆ เช่น จัดเทศกาลอาหารที่ทำจากเนื้อไก่ หรือเทศกาลอาหารทะเล เพื่อสร้างดีมานด์เนื้อสัตว์อื่นทดแทนความต้องการเนื้อหมูในตลาดผู้บริโภค” เจ้าของฉายา เจ้าพ่อเอสเอ็มอี กล่าว

และว่า ข้อควรระวังสำหรับผู้ประกอบการ คือ อย่าลดคุณภาพและปริมาณจนลูกค้าหนีหมด เพราะเมื่อราคาสินค้าเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว การลดคุณภาพหรือลดปริมาณลงจะทำให้ลูกค้าหลายรายไม่กลับมาอีก ดังนั้น ต้องตัดสินใจให้ดี และชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกค้าถึงต้นทุนวัตถุดิบที่แพงขึ้น อย่าหนีปัญหาหนึ่งเพื่อไปเจออีกปัญหาหนึ่ง สู้ยอมกัดฟันขึ้นราคาแล้วแจ้งลูกค้าตรงๆ ไปดีกว่าลดคุณภาพจนเสียลูกค้า และนี่คือทางเลือก ที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเลือกที่จะขึ้นราคาเพราะเหตุนี้