หมูแพง สะเทือนกระเป๋าผู้บริโภค แบกรับค่าอาหารสูงขึ้น 8-10%

หมูแพง
หมูแพง

หมูแพง สะเทือนกระเป๋าผู้บริโภค แบกรับค่าอาหารสูงขึ้น 8-10% ต่อคนต่อเดือน 

เศรษฐกิจไทยปลายปี 64 เริ่มเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ สะท้อนผ่านราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งราคาพลังงานและอาหารสด โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกรที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยล่าสุดขยับมาอยู่ที่ประมาณ 200 บาท/กิโลกรัม และคาดว่าราคาอาจจะขยับสูงขึ้นอีก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาเนื้อสุกรปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลมาจาก Pent-up demand หลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และความต้องการบริโภคเนื้อสุกรในช่วงเทศกาลปลายปี รวมถึงปริมามาณเนื้อสุกรมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาโรคระบาดในสุกร ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน ต้นทุนค่าอาหารสัตว์ที่ปรับสูงขึ้น รวมถึงต้นทุนในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดในฟาร์ม ตลอดจนจำนวนของเกษตรกรเลี้ยงสุกรรายย่อยที่ลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการขายปลีกเนื้อสุกรและผู้ประกอบการร้านอาหารหลายรายทยอยปรับเพิ่มราคา ไปจนถึงชะลอหรือหยุดขายชั่วคราว

จากปัญหาความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน รวมถึงปัจจัยด้านฤดูกาลที่สภาพอากาศร้อนอาจทำให้สุกรเติบโตช้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงครึ่งแรกปี 65 ราคาเนื้อสุกรจะยังยืนสูงและอาจปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีนและช่วงเทศกาลสงกรานต์

ขณะที่มาตรการต่างๆ ของภาครัฐมีส่วนช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้บ้าง แต่คงต้องรอจนกว่าผลผลิตสุกรรอบใหม่จะเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดในช่วงครึ่งปีหลังราคาเนื้อสุกรจึงจะย่อตัวลง ทั้งนี้ คาดว่า ราคาเนื้อสุกรเฉลี่ยตลอดทั้งปี 65 จะอยู่ในกรอบ 190-220 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นราว 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และอาจผลักดันให้ราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อไก่ปรับสูงขึ้นตาม

นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบอาหารอื่นๆ เช่น ผัก น้ำมันพืชก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะกระทบต่อทั้งผู้ประกอบการขายปลีก โดยเฉพาะรายย่อย ร้านอาหาร ตลอดจนผู้บริโภคที่จะมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้น 8-10% ในขณะที่ภาวะที่ค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ เช่น ค่าสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) ค่าเดินทาง ก็เริ่มมีสัญญาณปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน