โรคระบาด ฝันร้ายฟาร์มหมู ตายเกลี้ยงยกคอก โอกาสสูง หมูแพงอีกนาน 

โรคระบาด ฝันร้ายฟาร์มหมู ตายเกลี้ยงยกคอก โอกาสสูง หมูแพงอีกนาน 
โรคระบาด ฝันร้ายฟาร์มหมู ตายเกลี้ยงยกคอก โอกาสสูง หมูแพงอีกนาน 

โรคระบาด ฝันร้ายฟาร์มหมู ตายเกลี้ยงยกคอก โอกาสสูง หมูแพงอีกนาน 

จากกรณีหมูแพง คุณน้ำพุ-ปณิธาน พิมพ์หนู เจ้าของฟาร์มหมูรายย่อยจาก จ.นครสวรรค์ วัย 29 ปี ได้แชร์โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Panitan Pimnoo ซึ่งเป็นโพสต์ที่เจ้าตัวเขียนไว้ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ถึงสาเหตุหมูแพงว่าเป็นเพราะโรคระบาดมาเยือน โดยมียอดแชร์สูงถึง 6.2 พันครั้ง

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง คุณน้ำพุ เผยว่า เปิดฟาร์มหมูมานานกว่า 20 ปี มีจุดเริ่มต้นมาจากคุณแม่ เลี้ยงหมูเพื่อส่งลูกทั้ง 3 คน เรียนจนจบปริญญา หลังจากนั้นได้วางมือและส่งต่ออาชีพเลี้ยงหมูให้ลูกได้ทำเป็นงานเสริมรองจากอาชีพประจำคือรับราชการ

โดยเริ่มจากฟาร์มเล็กๆ ซื้อลูกหมูมาขุน 4 เดือนแล้วจับขาย ได้กำไรตัวละ 1,000 บาท ขาย 20 ตัวได้กำไร 20,000 บาท หลังจากนั้นได้เริ่มขยับขยาย เนื่องจากคุณน้ำพุย้ายกลับมารับราชการที่บ้าน ทำให้มีกำลังพอในการเลี้ยงหมู จึงตัดสินใจเพิ่มจำนวนสมาชิกคือซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาเพิ่ม 10 กว่าตัวเมื่อราวๆ ปี 62

คุณน้ำพุ เลี้ยงหมูหลุม รวมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์และลูกหมูในฟาร์มแล้วเกือบ 100 ตัว แม้จะเป็นฟาร์มรายย่อย แต่ก็แบกรับค่าอาหารหลักแสนต่อเดือน ถือว่าเป็นวิกฤตเหมือนกัน 

“ผมส่งหมูให้เขียงหมูหรือโรงเชือดท้องถิ่น ในอำเภอมีเขียงหมูตามตลาดนัดตลาดสด เนื้อหมูของผมไม่ได้ส่งออกต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ จะกระจายแค่จังหวัดใกล้เคียงเท่านั้น”

สำหรับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) คุณน้ำพุ บอกว่า ได้ยินข่าวการแพร่ระบาดมาตั้งแต่ปี 2561-2562 แล้วในแถบประเทศเพื่อนบ้าน คนเลี้ยงหมูเห็นข่าวแล้วตกใจ เพราะไม่มีวัคซีนเนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ กระทั่งปี 2564 ได้รับข่าวว่าโรคนี้ขยายวงมาตามชายแดนภาคเหนือ เกิดจากการขนย้ายซากหมูเป็นพาหะนำเชื้อมาถึงภาคกลาง

คุณน้ำพุ บอก เมื่อรู้ว่าโรคมาถึงภาคกลางได้เตรียมมาตรการรับมือเข้มข้นยิ่งกว่ามาตรการป้องกันโควิด คือ ลงทุนป้องกันหลายอย่าง ต้องอาบน้ำก่อนเข้าฟาร์ม ห้ามคนในคนนอกเข้า ฉีดวัคซีนตามตาราง ฆ่าเชื้อ ตัดวงจร แต่ก็ห้ามไม่ได้ เพราะต้นเดือนตุลาคม หมูติดโรคตายยกฟาร์มใน 2 สัปดาห์

“วันที่โรคมาถึงฟาร์มผม ผมไม่ได้คิดไปเอง มั่นใจ เพราะอาการบ่งชี้ของโรคตรง ไม่มีทางเป็นโรคอื่นได้ ลักษณะอาการแรกเริ่มเมื่อหมูติดโรค ASF คือเบื่ออาหาร บางตัวได้รับเชื้อแล้วตายทันทีก็มี หากจะขายต้องรีบขายภายใน 48 ชั่วโมง ถ้าขายไม่ได้ก็คือไม่ได้แล้ว ราคาตกหนักสุดกิโลละ 10 บาท ผมขายทิ้งไม่กี่ตัว ที่เหลือฝังดิน โรคนี้ไม่ติดต่อสู่คน บางฟาร์มไม่ขายในราคาขาดทุน แต่ฟรีซไว้เพื่อรอขาย”

ถามว่าทำไมถึงไม่มีการยอมรับว่าเกิดโรค ASF เจ้าของฟาร์มหมู เผยว่า มีหลายปัจจัย คือหากเปิดเผยจะมีผลกระทบทั้งระบบ จีดีพีจะมีปัญหา หรือชะล่าใจมากเกินไป คิดแค่ว่ามาแล้วเดี๋ยวก็ไป 

“ถ้าแก้ปัญหาการระบาดของโรค ASF ตั้งแต่แรกหมูจะแพงหรือไม่ ผมการันตีไม่ได้ วิธีการแก้มันยาก เพราะไม่มีวัคซีน แต่ถ้าทำจริงๆ ต้องเปิดเผยตั้งแต่ต้นปีว่ามีโรคนี้ คนจะได้มีความรู้ แล้วบริโภคอย่างระมัดระวัง หรือการเคลื่อนย้ายซากต้องมีมาตรการเข้มงวด”

ส่วนราคาหมู คุณน้ำพุ คาดว่า “หมูจะแพงอีกนาน เพราะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ 1 ใน 3 ของระบบเลี้ยงหมูหายไป กว่าจะผลิตแม่พันธุ์เข้าสู่ระบบเป็นหมูขุนออกมากินกันเหมือนเดิมคงอีก 1-2 ปี ตอนนี้หมูกลายเป็นแหล่งโปรตีนที่เลือกชนชั้นผู้บริโภคไปแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ถามคุณน้ำพุว่าจะกลับมาเลี้ยงหมูอีกหรือไม่ ชายหนุ่ม เผยว่า ยังไม่กลับมาเลี้ยงในเร็ววันนี้ เพราะมีความเสี่ยง ด้วยต้นทุนสูงขึ้น พ่อพันธุ์แม่พันธุ์คงแพง เพราะหายไปจากระบบจำนวนมาก เกษตรกรอยากเลี้ยงแต่หลายอย่างไม่เอื้ออำนวย