ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินราคาข้าวไทย ปี 65 อยู่ที่ 8,900-9,400 บาท/ตัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินราคาข้าวไทย ปี 65 อยู่ที่ 8,900-9,400 บาท/ตัน

ราคาข้าวไทยปี 64 มีทิศทางปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี และคาดว่าทั้งปีน่าจะมีราคาเฉลี่ยต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบการบริโภคในประเทศ ปัญหาน้ำท่วม รวมถึงการส่งออกข้าวที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี จากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์

นอกเหนือจากปัญหาสายพันธุ์ข้าวไทยที่ไม่หลากหลายเริ่มไม่ตอบโจทย์ความต้องการในตลาดโลก ซ้ำเติมให้ราคาข้าวไทยปรับตัวลดลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าราคาข้าวไทยปี 65 น่าจะให้ภาพการเติบโตที่ดีขึ้นเล็กน้อย

เนื่องจากคาดว่า ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์น่าจะคลี่คลายและค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ จะช่วยหนุนการส่งออกข้าวไทย ในขณะที่ความต้องการจากทั้งในและต่างประเทศน่าจะมีรองรับมากขึ้นตามเทรนด์ความมั่นคงด้านอาหาร ทำให้ราคามีโอกาสขยับขึ้นได้ภายในกรอบแคบๆ เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาในตลาดโลก และสถานการณ์โควิด-19 ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ราคาข้าวเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้ในปี 65 น่าจะอยู่ที่ราว 8,900-9,400 บาทต่อตัน หรือหดตัวร้อยละ 1.6 ถึงขยายตัวร้อยละ 4.0 (YoY) จากฐานที่ต่ำ

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาปัจจัยท้าทายราคาข้าว ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงโดยเฉพาะคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนามที่มีแนวโน้มเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดจากไทยมากขึ้นด้วยราคาและต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าและมีผลผลิตต่อไร่ที่สูงกว่าไทย รวมถึงการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ตอบโจทย์ตลาดมากขึ้น เช่น ข้าวพื้นนุ่มและข้าวออร์แกนิก

นอกจากนี้ ข้าวไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างด้านราคาที่มีความซับซ้อนและส่งผลกดดันราคาข้าวไทยมายาวนาน ซึ่งส่งผลกระทบให้เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาที่ไม่สูงนัก อีกทั้งยังต้องเผชิญต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งต้นทุนแรงงาน ราคาปุ๋ย เงินเฟ้อ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

ดังนั้น การใช้มาตรการดูแลราคาข้าวของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในระยะสั้น/เฉพาะหน้า จึงนับว่ามีความจำเป็นและยังคงมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือด้านรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว  ในขณะที่การนำแนวทางการแก้ปัญหาราคาข้าวระยะกลาง-ยาวมาปรับใช้ ยังนับเป็นเครื่องยนต์ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนข้าวไทยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการยกระดับในภาคการผลิต รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงและตอบโจทย์ตลาดผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร (AgriTech) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการใช้ช่องทางการตลาดแบบ E-Commerce