เร่งฟื้นฟู เศรษฐกิจหลังโควิด สร้างนวัตกรรม กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

เร่งฟื้นฟู เศรษฐกิจหลังโควิด สร้างนวัตกรรม กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า ตลอดปี 2564 ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล สอวช. ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการใช้การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อววน.) เป็นเครื่องมือสำหรับการฟื้นตัวของประเทศ ได้วางมาตรการฟื้นตัวหลังโควิดไว้ 2-3 เรื่อง

โดยสิ่งต้องทำอย่างเร่งด่วนคือ สนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศ ในมุมของ สอวช. สิ่งที่ทำได้คือ การสร้างนวัตกรรมและสร้างกำลังคนสนับสนุนการลงทุน โดยได้ลงนามความร่วมมือกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.), สภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์, สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และบีโอไอ ร่วมกันผลิตกำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ 10,000 คน และด้านวิทยาศาสตร์ 10,000 คน รวมเป็น 20,000 คนต่อปี โดยกำลังคนที่ผลิตนั้น มีคุณสมบัติและทักษะเฉพาะ เพื่อตอบสนองการลงทุนของภาคเอกชนตามความต้องการที่แท้จริง

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแพลตฟอร์มการอุดมศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ผ่านกระบวนการแซนด์บอกซ์ (Sandbox) หรือ Higher Education โดยที่หลักสูตรอาจแตกต่างไปจากมาตรฐานในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการกำลังคนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากบริษัทที่ยื่นคำขอมาทางบีโอไอ

ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า อีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ คือ การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 ซึ่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของรัฐไปใช้ประโยชน์ แก้ปัญหาเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยระหว่างหน่วยงานให้ทุนกับผู้รับทุน

ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

และเมื่อหน่วยงานผู้รับทุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย ได้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม จะช่วยให้สตาร์ตอัพ และเอสเอ็มอี สามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ส่งผลช่วยให้เกิดจำนวนสตาร์ตอัพ และเอสเอ็มอี ที่ใช้เทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดระบบเศรษฐกิจนวัตกรรมได้

นอกจากนี้ ยังช่วยยกระดับงานวิจัยในสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันวิจัยและนักวิจัย ผลิตผลงานวิจัย ที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของภาคการผลิต และบริการ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางพร้อมมุ่งสู่การเป็นประเทศรายได้สูง

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

ดร.กิติพงค์ กล่าวด้วยว่า เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญอีกตัวหนี่งคือ การท่องเที่ยว ถือเป็นจุดสร้างรายได้สำคัญของประเทศไทยคิดเป็น 21% ของจีดีพี หลังสถานการณ์โควิด เชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างความพร้อม และนำมาตรการ อววน. เข้าไปส่งเสริม และผลักดันสู่เศรษฐกิจ โดย สอวช. กำลังทำงานกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งในอนาคต

เชื่อว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏ อาจจะทรานส์ฟอร์ม โดยจัดให้มีการศึกษาด้านโบราณคดี แม้แต่การจัดตั้งเป็นคณะโบราณคดี เพื่อสนับสนุน Civilization Industry โดยเฉพาะ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บันเทิง และอุตสาหกรรมสันทนาการต่างๆ เชื่อว่าวัยรุ่นจะสนใจเรียนกันมาก โดยอาจจะทำร่วมกับ วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ธัชชา -TASSHA (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts) ที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้านรากฐานทางประวัติศาสตร์อาจเป็นในรูปของการท่องเที่ยว ขายของ ขายอาหาร เป็นต้น

ดร.กิติพงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทย สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปคือการสร้างโอกาสในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม Route 1 (Innovation Economic Corridor) เพื่อยกระดับศักยภาพทางนวัตกรรมในพื้นที่ บริหารทรัพยากรเพื่อให้เกิดพื้นที่นวัตกรรม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน โดยพุ่งเป้าส่งสินค้าไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศ CLMVT + C

คือ เพิ่มประเทศจีน จากโครงการรถไฟจีน-ลาว ที่เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยเส้นทางรถไฟ จีน-ลาว มีระยะทางประมาณ 420 กิโลเมตร เริ่มต้นที่คุนหมิง มณฑลยูนนาน เชื่อมต่อที่เมืองบ่อเต็น สปป.ลาว และการท่องเที่ยวของไทย ที่จะมาพร้อมกับการเชื่อมต่อโลจิสติกส์ในครั้งนี้ เนื่องจากสามารถขนส่งสินค้าจากประเทศไทยสู่ 50 เมืองของจีนได้ภายใน 24 ชั่วโมง

“ขณะนี้ได้ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำลังดูเรื่องของ Route 1 เพื่อคัดเลือกคลัสเตอร์อาหารที่มีศักยภาพ 5-6 คลัสเตอร์ ที่จีนนิยมบริโภคและสามารถสร้างมูลค่าได้ อาทิ 1. โปรตีนจากพืช (Plant-base Protein) เช่น ถั่วเหลือง เห็ดแครง ฯลฯ 2. ผลไม้เกรดพรีเมี่ยม (Premium Fruit) ได้แก่ ทุเรียน มังคุด มะม่วง ลำไย โดยให้ทางหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) อยู่ระหว่างการทำ Cold Chain Logistic หรือ ระบบการควบคุมอุณหภูมิ เพื่อยืดอายุผลไม้ อาหารไม่เสียระหว่างทาง และเมื่อการขนส่งใช้ระยะเวลาสั้นลง ก็จะเป็นโอกาสของสินค้าเกษตรไทย ซึ่งจะส่งผลดีไปยังเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่นด้วย” ดร.กิติพงค์ กล่าว

ลงนามความร่วมมือ

นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังมีหน่วยที่สนับสนุนแพลตฟอร์มระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรมได้อีกหลายช่องทาง ได้แก่ โรงเรียนนวัตกรรม ที่กระจายอยู่ตามอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ, มีเวทีขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับประเทศ หรือ 7 Innovation Award ที่จะคัดสรรผู้ผลิตผลงานนวัตกรรมที่โดดเด่น, มีกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund), มีสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ, มีหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา ที่ผลิตลูกศิษย์ออกมามากมาย แต่อยู่ที่ว่า เราจะผลักดันพวกเขาให้เข้าถึงตลาดโลกได้อย่างไร

“สอวช. ได้หารือกับ EXIM Bank เพื่อวางแผนในการสร้างสมาร์ทเอสเอ็มอีเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ของต่างประเทศ เช่น อาลีบาบา เบื้องต้นคาดว่าจะคัดเอสเอ็มอีเข้าร่วม 500 ราย และนำมาบ่มเพาะผ่านกระบวนการคัดเลือกให้เหลือประมาณ 200 ราย โดยสินค้าที่คัดสรรไปนั้น มียอดขายอยู่แล้วประมาณ 1 ล้านบาทต่อปี เราตั้งเป้าจะเพิ่มยอดขายให้เป็น 100 ล้านบาทต่อราย รวม 200 ราย ก็จะสร้างรายได้ 20,000 ล้านบาท และจะขยายผลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ดร.กิติพงค์ กล่าว

นอกจากนี้ สอวช. กำลังทำโครงการ Local Entrepreneur เพื่อสร้างผู้ประกอบการในระดับพื้นที่ โดยดูว่าผู้ประกอบการแต่ละรายมีจุดเด่นอะไร และสามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอะไรได้บ้าง ได้เริ่มที่ จ.ปัตตานี เนื่องจากพบว่ามีเอสเอ็มอีรายหนึ่ง ซี่งต่อยอดมาจากเวที 7 Innovation เป็นเอสเอ็มอีเล็กๆ ที่ขายน้ำพริก ที่มีรสชาติอร่อยมาก จากเดิมที่เคยขายได้ปีละไม่กี่ล้านบาท

แต่หลังจากที่ปรับรูปแบบแพ็กเกจให้สวยงาม สร้างมาตรฐานสินค้าให้สะอาด รสชาติคงที่ ปัจจุบันส่งขายไปทั่วโลก ยอดขายปีละ 100 ล้านบาท อันนี้เป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในการสร้างผู้ประกอบการที่เราพยายามจะต่อยอดขยายให้เกิดผู้ประกอบการระดับพื้นที่ลักษณะนี้มากขึ้น