แบกทุนเพิ่ม วันละ 5 แสน! สุกี้ตี๋น้อย แจงขึ้นราคาถึงกลางปีหน้า แล้วค่อยว่ากันใหม่

แบกทุนเพิ่ม วันละ 5 แสน! สุกี้ตี๋น้อย แจงขึ้นราคาถึงกลางปีหน้า แล้วค่อยว่ากันใหม่
แบกทุนเพิ่ม วันละ 5 แสน! สุกี้ตี๋น้อย แจงขึ้นราคาถึงกลางปีหน้า แล้วค่อยว่ากันใหม่

แบกทุนเพิ่มวันละ 5 แสน เพราะหมูแพง! สุกี้ตี๋น้อย แจงขึ้นราคาบุฟเฟ่ต์ ถึงกลางปีหน้า สถานการณ์ดีขึ้น ค่อยว่ากันใหม่

กลายเป็นประเด็นฮือฮาขึ้นมาทันที เมื่อร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ ทยอยประกาศขอปรับขึ้นราคากันเป็นแถว รวมถึง สุกี้ตี๋น้อย บุฟเฟ่ต์ที่คัดวัตถุดิบคุณภาพ แต่ราคาเป็นมิตรกับกระเป๋าเงิน ที่ก็ขอขึ้นราคาขึ้นมาด้วยเช่นกัน จากเดิม 199 บาท (ยังไม่รวม VAT 7%) มาเป็น 219 บาท (ยังไม่รวม VAT 7%) โดยจะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2565 นี้

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณเฟิร์น-นัทธมน พิศาลกิจวนิช สาวเก่งผู้บริหารร้านสุกี้ตี๋น้อย ซึ่งเธอได้เล่าว่า หลังจากมีการคลายล็อกและห้างร้านกิจการสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติ จึงมีลูกค้ารู้จักและเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น

คุณเฟิร์น-นัทธมน พิศาลกิจวานิช วัย 29 ปี สาวเก่งผู้บริหารร้านสุกี้ตี๋น้อย

“เหมือนล็อกดาวน์แล้วลูกค้าคิดถึงบรรยากาศร้านอาหาร คิดถึงการทานบุฟเฟ่ต์ พอคลายล็อกดาวน์แล้ว ก็มีลูกค้ารู้จักเพิ่ม มีเข้ามาใช้บริการเยอะขึ้น”

ด้วยความที่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเยอะขึ้น สวนทางกับวัตถุดิบที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มีมาก ทำให้ราคาวัตถุดิบที่แพงขึ้น จนท้ายที่สุด ทางร้านสุกี้ตี๋น้อยต้องประกาศขอปรับราคาขึ้น จากเดิม 199+ เป็น 219+ โดยมีผลตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไปนั้น

คุณเฟิร์น เล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้วราคาวัตถุดิบต่างๆ มีการขึ้นราคามาโดยตลอดตั้งแต่ร้านสามารถเปิดดำเนินกิจการได้ โดยทางร้านสุกี้ตี๋น้อย ยังคงคิดราคาบุฟเฟ่ต์เท่าเดิมและยอมแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นมาตั้งแต่ประมาณ ส.ค.-ก.ย. แล้ว ท้ายที่สุดเมื่อแบกรับไม่ไหวจริงๆ จึงได้ประกาศขึ้นราคาดังที่เป็นข่าว

“จริงๆ เราแบกรับสถานการณ์นี้มาตลอด 3 เดือนได้ ตั้งแต่เปิดร้านได้เลยค่ะ วัตถุดิบมันขึ้นมาเรื่อยๆ มันเหมือนมันมีความต้องการซื้อต้องการบริโภคมากขึ้น แต่ความต้องการขายหรือกำลังผลิตมันน้อยลง โควิด-19 มันเป็นกันทั้งโลกและมันก็ยังเป็นมาตลอดรวมไทยด้วย ดังนั้น ภาคการผลิตต่างๆ เขาก็ลดกำลังการผลิตลง เนื่องจากดีมานด์หรือความต้องการในตอนนั้นมันไม่สูง เพราะคนก็ติดโควิด ไม่อยากออกจากบ้านกัน ไหนจะค่าขนส่ง ค่าน้ำมันด้วย”

สุกี้ตี๋น้อยปรับราคา
สุกี้ตี๋น้อยปรับราคา

“ดังนั้น พอมันเปิดได้ปุ๊บ ทุกคนก็เปิดพร้อมกัน ผู้บริโภคก็อยากจะออกมาใช้บริการกัน ดีมานด์มันเลยขึ้นสูงเลย แต่ซัพพลายมันผลิตไม่ทัน ทำให้ราคาวัตถุดิบมันขึ้นเรื่อยๆ เลย ตามดีมานด์ความต้องการ เราแบกรับมาเรื่อยๆ จนมันไม่ไหวแล้วถึงได้ขอขึ้น คือมันไม่ใช่แค่อาหาร ค่าแรงเราก็ต้องขึ้นให้พนักงานด้วย เพราะเขาก็มีภาระ ไหนจะค่าแรงที่สูงขึ้นด้วย และค่าสินค้า ค่าของ ชาม ช้อน หลอดพลาสติก คือมันขึ้นหมดเลย ราคาพุ่งหนักๆ ก็วัตถุดิบ โดยเฉพาะหมู ขึ้นมา 70 ก็แล้ว แล้วตอนนี้ก็โลละ 200 กว่าบาทจริงๆ แต่เราก็ต้องซื้อในราคานั้น”

“มันแพงมาก จากกลางๆ ปี 3 ชั้นอยู่โลละ 130 มันขึ้นมา 210, 215, 220 บาท แล้ววันหนึ่งเราสั่งมาเป็นตันๆ เฉพาะสามชั้นอย่างนี้ด้วย แค่เฉพาะหมูอย่างเดียว ต้นทุนค่าใช้จ่ายเราพุ่งขึ้นมาวันละ 5 แสนบาท ถ้ามันแค่ชั่วคราว เราก็ยอมแบก เพราะเราอยากคงราคาเดิมให้ลูกค้าจริงๆ แต่มันก็ไม่ไหวจริงๆ เหมือนกัน ซัพพลายเออร์ของเรามีเป็นสิบกว่าเจ้า ทุกเจ้าพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แนวโน้มราคาของมันไม่ลงจริงๆ อีก 6 เดือนก็ราคาก็น่าจะยังไม่ต่ำลง ดังนั้น ราคาที่ปรับใหม่ เราก็ยังคงไว้ไปถึงกลางปี แล้วก็มาดูสถานการณ์กันอีกที เราอยากคงคอนเซ็ปต์เดิมคือความคุ้มค่าที่ลูกค้าทุกกลุ่มจับต้องได้ แต่ก็ต้องดูสถานการณ์กันอีกทีค่ะว่าราคาจะเป็นยังไง หรือเราจะเพิ่มอะไรเข้ามาใหม่เป็นการทดแทนได้” คุณเฟิร์น เล่าอย่างนั้น

ถามถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีสายพันธุ์ใหม่ อย่าง โอมิครอน เข้ามา จะส่งผลกระทบอย่างไรกับธุรกิจบ้าง คุณเฟิร์น กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วเธอก็มีความกังวล เพราะสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายง่าย ทำให้ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้รู้ว่า จะสามารถรับมือได้อย่างไรบ้าง

“เราก็ไม่อยากให้มันเกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายอีกแน่นอน เพราะมันกระทบเยอะ ซัพพลายเชนมันเละตามๆ กันไปหมด เพราะถ้ามันหยุด มันล็อกดาวน์ ไม่ใช่แค่ว่าร้านอาหารมันปิดนะ แต่ทั้งการเกษตรต่างๆ ที่เป็นผู้ผลิตเขาก็หยุดผลิตหรือผลิตน้อยลงไปด้วย พอเปิดได้ แต่ของมีไม่พอ ราคามันก็สูง มันก็กระทบผู้บริโภค กระทบทุกฝ่าย เลือกได้ก็ไม่อยากให้มันเกิดเรื่องแย่ๆ ขึ้น แต่ถ้ามันจะเกิดขึ้นมันก็ต้องเกิด แต่เฟิร์นก็เชื่อและหวังว่าไม่อยากให้มันเลวร้ายไปกว่านี้” คุณเฟิร์น ว่าอย่างนั้น