ปลูกข้าวไทย นอกโลก ขยายผลวิจัย เพื่อมนุษยชาติ รับวิกฤตขาดแคลนอาหาร

ปลูกข้าวไทย นอกโลก ขยายผลวิจัย เพื่อมนุษยชาติ รับวิกฤตขาดแคลนอาหาร

นับตั้งแต่มีการสำรวจอวกาศ จากเมื่อครั้งที่ได้มีการเดินทางขึ้นไปเหยียบบนดวงจันทร์ครั้งแรกเป็นต้นมา ทุกเที่ยวบินอวกาศจะต้องมีการนำเอาเมล็ดพันธุ์พืชจากโลกติดไปด้วยทุกครั้ง เป็นที่น่าภาคภูมิใจว่าครั้งหนึ่งเมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์ของไทย เคยได้เดินทางไปกับเที่ยวบินอวกาศเช่นกัน และได้กลับคืนสู่ดินแดนมาตุภูมิ ด้วยความหวังที่จะเห็นเมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์งอกงามเติบโตออกช่อดอกสีเหลืองอร่ามดั่งทองอีกครั้ง ณ ผืนแผ่นดินไทยบ้านเกิด จนเป็นที่เรียกขานว่า “ราชพฤกษ์อวกาศ”

ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้นำ Plant Biology and Astrobotany (PBA) Lab ซึ่งให้การดูแล “ราชพฤกษ์อวกาศ” ณ โรงเรือนวิจัยปลูกพืชของคณะฯ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมโครงการ Asian Herb in Space (AHiS) กับ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency ; JAXA) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA

ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ดำเนินโครงการ AHiS ระยะที่ 2 “ราชพฤกษ์อวกาศ” โดยส่งเมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์ ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) กับเที่ยวบินอวกาศ ภายใต้ภารกิจ SpaceX CRS-21 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 โดยเมล็ดพืชถูกเก็บรักษาไว้ในโมดูลคิโบ (KIBO) ของ JAXA จากนั้นถูกส่งกลับมายังโลกด้วยยาน SpaceX Cargo Dragon 2 ภายใต้ภารกิจ CRS-22 ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Aeronautics and Space Administration ; NASA) เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2564 มาวิจัย ณ โรงเรือนวิจัยปลูกพืชของคณะฯ เพื่อดูการงอกและเจริญเติบโตของเมล็ดพันธุ์ “ราชพฤกษ์อวกาศ” เปรียบเทียบกับเมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์ทั่วไป

ความท้าทายอยู่ที่ปัจจัยแวดล้อมของการเดินทางในอวกาศ และการรักษาเมล็ดพันธุ์ระหว่างการเดินทางที่ยาวนานในอวกาศ จะส่งผลต่อการงอกและเจริญเติบโตของเมล็ดพันธุ์พืชจากโลกมากน้อยเพียงใด

เป็นที่ทราบกันดีว่าโดยปกติเมล็ดพันธุ์พืชจะงอกและเติบโตหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความสมดุลของ 3 ปัจจัย คือ แสง ดิน และน้ำ ซึ่งการเดินทางไปในอวกาศที่มีชั้นบรรยากาศเป็นสุญญากาศ และต้องเจอกับรังสีต่างๆ จากนอกโลก อาจส่งผลต่อการงอกและเติบโตของเมล็ดพันธุ์พืชที่นำไปด้วยได้ หากไม่มีการใช้เทคโนโลยีการเก็บรักษาที่ดีพอ

ขยายผลวิจัย

นอกจากนี้ เมล็ดพันธุ์พืชจะไม่สามารถงอกและเติบโตลำพังได้ในอวกาศ หากไม่นำลงปลูกในสถานีอวกาศที่มีการควบคุมแสง ดิน และน้ำ ให้เหมาะสม ซึ่งผลจากการทดลองปลูก “ราชพฤกษ์อวกาศ” นี้ อาจสามารถต่อยอดขยายผลไปถึงการศึกษาวิจัยเพื่อนำเมล็ดพันธุ์ “ข้าว” ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารหลักของมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวพันธุ์ไทย ไปทดลองปลูกยังสถานีอวกาศนอกโลก เพื่อรับมือวิกฤตขาดแคลนทรัพยากรอาหาร ที่อาจเกิดขึ้นกับโลกในอนาคตต่อไปได้อีกด้วย

ติดตามความคืบหน้าของโครงการฯ ได้ที่ Facebook : PBA Lab – Mahidol University https://www.facebook.com/PBALabMUSC