วิกฤต จระเข้ไทย ฟาร์มเลิกกิจการ เนื้อราคาตกต่ำ เร่งหาทางออก คนเลี้ยงอยู่รอด

วิกฤต จระเข้ไทย ฟาร์มเลิกกิจการ เนื้อราคาตกต่ำ เร่งหาทางออก คนเลี้ยงอยู่รอด
วิกฤต จระเข้ไทย ฟาร์มเลิกกิจการ เนื้อราคาตกต่ำ เร่งหาทางออก คนเลี้ยงอยู่รอด

วิกฤต จระเข้ไทย ฟาร์มเลิกกิจการ เนื้อราคาตกต่ำ เร่งหาทางออก คนเลี้ยงอยู่รอด

รศ.ดร.นายสัตวแพทย์จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง สถานการณ์จระเข้ไทยในปัจจุบัน ว่ากำลังน่าเป็นห่วง ด้วยมาตรฐานการบริหารจัดการฟาร์มที่ยังไม่สามารถควบคุมโรคระบาดของจระเข้ในฟาร์ม ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์ส่งออกจากจระเข้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในเรื่องการอนุรักษ์ จนในเวทีโลกได้หยิบยกเป็นเรื่องกีดกันทางการค้า

“ก่อนหน้านี้หนังจระเข้และผลิตภัณฑ์จากหนังจระเข้ของไทยเป็นที่นิยมอย่างมาก มีมูลค่าการส่งออก นำรายได้เข้าประเทศมหาศาลหลายพันล้านบาทต่อปี สำหรับเนื้อจระเข้ เคยมีราคาสูงถึงหลักพัน แต่ปัจจุบันขายเพียงกิโลกรัมละ 10-15 บาท และยังไม่นับรายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยวฟาร์มจระเข้ ซึ่งปัจจุบันฟาร์มจระเข้ถึงร้อยละ 25 ต้องเลิกกิจการ

ตั้งแต่เกิดปัญหาโรคระบาดในฟาร์มจระเข้ และวิกฤต COVID-19 ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ จึงถึงเวลาแล้วที่ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ เกษตรกร ผู้ประกอบการ ตลอดจนสมาคมผู้เลี้ยงจระเข้ต่างๆ ฯลฯ จะต้องมาคุยกันถึงทางรอดของจระเข้ไทยว่าจะไปต่อได้อย่างไร” รศ.ดร.นายสัตวแพทย์จิตรกมล  กล่าว

จระเข้ไทย

ดังนั้น ระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม 2565 เวลา 08.30-12.30 น. คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และ สมาคมฟาร์มจระเข้ไทย จัดอบรมสัมมนา “คนเลี้ยงอยู่ได้ จระเข้ไทยอยู่รอด” ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.

โดย ผศ.ดร.สัตวแพทย์หญิงนลิน อารียา หัวหน้าภาควิชาปรีคลินิกและสัตวศาสตร์ประยุกต์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ถึงความมุ่งหมายในการจัดอบรมสัมมนาดังกล่าวโดยหวังให้เป็นแนวทางสำหรับอนาคตของการเลี้ยงจระเข้ไทย ฝ่าวิกฤตจากปัญหาการส่งออก การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อในฟาร์มจระเข้ และผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยคาดว่าองค์ความรู้ที่มอบให้จากการอบรมสัมมนาดังกล่าวจะสามารถนำไปต่อยอดจนผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ได้

ซึ่งการอบรมสัมมนาจัดขึ้นทั้งในรูปแบบ Onsite และ Online โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากเรื่อง “การจัดการและหลักสุขาภิบาลเบื้องต้นในการเลี้ยงจระเข้” “โรคและการจัดการสุขภาพเบื้องต้นสำหรับจระเข้” “การใช้ประโยชน์และผลิตภัณฑ์จากจระเข้” “อุตสาหกรรมการผลิตจระเข้กับอนาคตของผู้เลี้ยงจระเข้ในประเทศไทย” แล้ว ยังมีการเสวนาเรื่อง “ข้อกฎหมาย การตลาด และทางรอดของจระเข้ไทย”

วิทยากรนำโดย รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร อดีตคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้แทนจากกรมประมง สมาคมฟาร์มจระเข้ไทย ภาคเอกชนผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากจระเข้ และกลุ่มผู้เลี้ยงจระเข้ ฯลฯ

รวมทั้งจะมีการบรรยายเรื่อง “สถานการณ์โรคติดเชื้อคลามัยเดียในประเทศไทย” ซึ่งจะได้มีการพูดถึงแนวโน้มการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อดังกล่าวในฟาร์มจระเข้ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์จากจระเข้ของประเทศไทยต่อไปอีกด้วย

ติดตามรายละเอียดการจัดอบรมสัมมนา “คนเลี้ยงอยู่ได้ จระเข้ไทยอยู่รอด” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม 2565 เวลา 08.30-12.30 น. ได้ที่ Facebook : คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล Faculty of Veterinary Science, Mahidol University