เผยแพร่ |
---|
Credit Scoring หรือ ‘คะแนนเครดิต’ คือสิ่งที่สถาบันการเงินใช้ประเมินความสามารถในการชำระหนี้จากเจ้าของบัตรเครดิต โดยคะแนนเครดิตจะถูกประเมินก็ต่อเมื่อสถาบันการเงินต้องการพิจารณาเจ้าของบัตรเครดิตยื่นกู้สินเชื่ออื่นๆ ซึ่งเรียกได้ว่า คะแนนเครดิตจะเป็นส่วนหนึ่งที่กำหนดเลยว่า จะได้รับอนุมัติวงเงินหรือไม่ ได้รับในจำนวนที่มากน้อยแค่ไหน หากสถาบันการเงินพบว่าคะแนนเครดิตอยู่ในเกณฑ์ดี มียอดใช้จ่าย และชำระหนี้ได้ ก็จะเกิดความน่าเชื่อถือต่อสถาบันการเงินนั่นเอง
‘เครดิตสกอริ่ง’ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ National Credit Bureau (NCB)
ข้อมูลเครดิตสกอร์ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและได้รับการยอมรับจากสถาบันการเงิน คือระบบเครดิตสกอริ่งของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือที่หลายๆ คนเรียกว่าศูนย์เครดิตบูโร ซึ่งจะทำการประเมินเครดิตสกอริ่งผู้ใช้บริการจากสถาบันและผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นสมาชิกของศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ที่จะจัดส่งรายงานการใช้จ่ายของผู้ใช้บริการให้ทุกเดือน เพื่อนำมาประเมินด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการชำระหนี้เพื่อตัดเป็นเกรด บ่งบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้ของเจ้าของข้อมูลนั้น โดยใช้ทั้งหมด 8 ปัจจัยคือ
1. Utilization Pattern ยอดหนี้คงเหลือหรือยอดเงินที่ใช้ไปเทียบกับวงเงินสินเชื่อ
2. Debt Burden ยอดหนี้คงเหลือหรือยอดวงเงินที่ใช้ รวมแต่ละประเภทสินเชื่อ
3. Recent Credit จำนวนบัญชีที่เพิ่งเปิดในแต่ละประเภทสินเชื่อ
4. Severity and Recency of Delinquency จำนวนเงินคงค้างล่าสุด
5. Depth of Credit ความยาว (ระยะเวลา) ของประวัติสินเชื่อ ตามแต่ละประเภทสินเชื่อ
6. Thickness of Credit with Good Payment จำนวนบัญชีที่มีประวัติการชำระเงินที่ดี
7. Available Credit ความยาว (ระยะเวลา) ของสินเชื่อที่มี
8. Enquiry Activity ความถี่ของการสมัครสินเชื่อใหม่
ซึ่งข้อมูลที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติใช้ในการเครดิตสกอริ่ง ล้วนแต่เป็นข้อมูลของการขอสินเชื่อ ปริมาณหนี้สิน และการผ่อนชำระคืน ไม่ใช่ข้อมูลทรัพย์สินที่มีอยู่ เช่น บัญชีเงินฝาก หรือหน่วยลงทุนของเจ้าของข้อมูลนั้น
คะแนนดี มีประโยชน์อย่างไร?
1. เพิ่มโอกาสให้กับเจ้าของข้อมูลได้รับบริการสินเชื่อ ที่สอดคล้องกับข้อมูลความสามารถในการชำระหนี้ และพฤติกรรมการชำระหนี้ของตนเองมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
2. มีความรู้ที่จะไม่สร้างความเสี่ยงทางการเงินให้แก่เจ้าของข้อมูลเกินสมควร รวมถึงการเพิ่มความรู้ทางการเงิน การบริหารจัดการเงินให้กับเจ้าของข้อมูล
3. เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินและเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ในฐานะที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลระบบสถาบันการเงิน
วิธีเพิ่มคะแนน Credit Scoring ด้วยตัวเอง
1. หมั่นตรวจสอบเครดิตสกอร์
การรู้ว่าเรามีเครดิตสกอร์เท่าไร ทำให้สามารถหาทางเพิ่มเครดิตสกอร์ของเราได้ โดยเฉพาะถ้ามีแผนจะขอสินเชื่อในอนาคต ซึ่งปัจจุบันการตรวจสอบเครดิตสกอร์ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะสามารถทำได้ใน Mobile Banking ซึ่งถือว่าเหมาะกับการทำธุรกิจในโลกยุค New Normal มากเพราะไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานที่ทำการธนาคาร
2. ชำระหนี้ตรงเวลา
ส่วนใหญ่แล้ว การจ่ายหนี้บัตรเครดิตให้ตรงเวลาถูกคิดเป็นสัดส่วนที่มากถึง 30-40% ของเครดิตสกอร์เลยทีเดียว ดังนั้น ควรทำการตั้งเตือนสำหรับการชำระหนี้ทุกครั้ง บางธนาคารยังมีบริการแจ้งเตือนทาง SMS หรือทางอีเมล เมื่อใกล้ถึงวันกำหนดครบชำระ หากไม่มีเวลาอาจจะใช้บริการตัดผ่านบัญชีอัตโนมัติของธนาคารเลยก็ได้
3. ลดจำนวนหนี้สินหมุนเวียน
การมีหนี้สินน้อยย่อมเป็นผลดีต่อเครดิตสกอร์ เนื่องจากจะช่วยลดสัดส่วนหนี้ต่อวงเงินอนุมัติ ดังนั้น จึงควรผ่อนหนี้บัตรเครดิตที่เกิดจากการซื้อสินค้าที่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือโน้ตบุ๊กเครื่องใหม่ให้หมดโดยเร็ว
4. ลดการใช้บัตรเครดิต
การมีบัตรเครดิตหลายใบ มีความเสี่ยงต่อการใช้จ่ายเกินจำเป็น ส่งผลให้เกิดการผิดนัดชำระ หากชำระบัตรเครดิตไม่เต็มวงเงินทุกใบ และเริ่มชำระขั้นต่ำ นั่นเป็นสัญญาณที่ไม่ดีและอาจก่อหนี้ให้คุณได้ในอนาคต จึงควรใช้บัตรเครดิตเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
5. รวมหนี้บัตรเครดิตไว้ในที่เดียว
การรวมยอดหนี้ หรือศัพท์ทางการเงินเรียกว่าการรีไฟแนนซ์ มีผลดีต่อเครดิตสกอร์ โดยจะช่วยลดดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย หากเลือกที่จะรีไฟแนนซ์หนี้สินบัตรเครดิตเพื่อผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่เกิดจากบัตรเครดิตได้ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการโดนลดเครดิตสกอร์ได้
สำหรับบุคคลธรรมดา การตรวจเครดิตบูโร ไม่ว่าจะที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรโดยตรง ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร ที่ทำการไปรษณีย์ ตู้เอทีเอ็ม โมบายแอพ หรือทางเว็บไซต์ของธนาคาร สามารถตรวจรายงานข้อมูลเครดิต ที่บอกว่าเรามีสินเชื่อทั้งหมดกี่บัญชี กับสถาบันการเงินไหนบ้าง สถานะการชำระหนี้เป็นอย่างไร มีค้างชำระเท่าไร รวมทั้งสามารถตรวจเครดิตสกอริ่ง (Credit Score) ของตัวเองได้อีกด้วย
โดยปกติ “รายงานข้อมูลเครดิต” จะบอกว่าเรามีพฤติกรรมชำระหนี้เป็นอย่างไรในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่วน “Credit Score” จะสรุปข้อมูลทั้งหมดออกมาเป็นคะแนน บอกว่าเครดิตของคุณจัดอยู่ในเกณฑ์ดีหรือไม่
แหล่งอ้างอิง :
Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิก หรือสายด่วน 1333