เนื้อเยื่อเทียม จากวัสดุสังเคราะห์ รักษาแผล ม.มหิดล ช่วยลดนำเข้าปีละ 15 ล้าน

เนื้อเยื่อเทียม จากวัสดุสังเคราะห์ รักษาแผล ม.มหิดล ช่วยลดนำเข้าปีละ 15 ล้าน

เนื้อเยื่อเทียม เป็นวัสดุทางการแพทย์ ที่สามารถต่อชีวิตผู้ป่วยจากเหตุเพลิงไหม้ที่มีอาการรุนแรงได้ ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตได้เอง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยคิดเป็นมูลค่าถึงประมาณ 15 ล้านบาทต่อปี

ด้วยปณิธาน “ปัญญาของแผ่นดิน” ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ทุ่มเทผลิตผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์เร่งด่วนของประชาชนชาวไทย จึงได้ริเริ่มคิดค้นนวัตกรรมใหม่ “เนื้อเยื่อเทียมจากวัสดุสังเคราะห์” ที่ประชาชนคนไทยสามารถเข้าถึงได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รศ.น.ท.ดร.นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช รองหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์แพทย์และประสาทศัลยแพทย์ผู้คว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น รางวัลประกาศเกียรติคุณ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปีงบประมาณ 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากผลงานนวัตกรรม “เนื้อเยื่อเทียมจากวัสดุสังเคราะห์” ที่ได้ทุ่มเทริเริ่มคิดค้นและพัฒนามาเป็นเวลากว่า 3 ปี

โดยได้ผ่านการทดสอบกับสัตว์ทดลองจนเป็นผลสำเร็จแล้ว เตรียมทดลองกับผู้ป่วยจริง ก่อนยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และร่วมกับภาคเอกชนพัฒนาขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้างและก่อให้เกิดรายได้กลับมาพัฒนาต่อยอดงานวิจัยต่อไป

ที่ผ่านมา บางกรณีของการผ่าตัดสมองและไขสันหลังนั้น มีความจำเป็นต้องใช้เนื้อเยื่อของตัวผู้ป่วยเอง หรือจากวัสดุสังเคราะห์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมาใช้ในการปิดสมอง หรือไขสันหลัง ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดแผลเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกด้วย การใช้ “เนื้อเยื่อเทียมจากวัสดุสังเคราะห์” ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่าสูงมาทดแทนจึงมีความจำเป็น

การผ่าตัดแผลไฟไหม้จะต้องใช้ผิวหนังจากส่วนอื่นของร่างกายผู้ป่วยมาทำการรักษา ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดแผลเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกด้วย ศัลยแพทย์จึงต้องใช้ “เนื้อเยื่อเทียมจากวัสดุสังเคราะห์” ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีมูลค่าสูงมาทดแทน

ด้วยประสบการณ์จากการทำงานในห้องผ่าตัดซึ่งต้องใช้วัสดุทางการแพทย์ประเภท “เซลลูโลส” (Cellulose) เพื่อทำการหยุดเลือด ผู้วิจัยได้นำเอาวัสดุดังกล่าวมาพัฒนาขึ้นเป็น “เนื้อเยื่อเทียมจากวัสดุสังเคราะห์” ที่ผสานกับวัสดุชีวภาพ “โพลีคาโปรแลกโตน” (Polycaprolactone : PCL) ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ โดยเป็นงานวิจัยในระดับชาติที่ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

สาเหตุที่นำเอาเซลลูโลสมาผสานกับ PCL เนื่องด้วยคุณสมบัติของเซลลูโลสแม้จะสามารถรักษาความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังบริเวณที่เป็นแผลได้ แต่ไม่สามารถกันรั่วซึมได้ เนื่องจากสามารถละลายได้ในน้ำ ผู้วิจัยจึงได้นำวัสดุดังกล่าวมาพัฒนาร่วมกับ PCL ซึ่งเป็นพลาสติกประเภทโพลีเอสเตอร์ (Polyester) ที่สามารถย่อยสลายได้ในอุณหภูมิร่างกาย แต่มีความทนทานมากกว่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยในเบื้องต้นได้ผ่านการทดสอบแล้วในสัตว์ทดลองพบว่าสามารถใช้ได้ถึง 72 ชั่วโมง โดยไม่มีอาการอักเสบ

นอกจากจะสามารถใช้กับแผลไฟไหม้ได้แล้ว “เนื้อเยื่อเทียมจากวัสดุสังเคราะห์” ที่ผู้วิจัยได้ริเริ่มคิดค้นและพัฒนาขึ้นนี้ ยังสามารถใช้ได้กับการผ่าตัดเนื้อเยื่อต่างๆ โดยก้าวต่อไปจะได้ทดลองกับผู้ป่วยจริง ทั้งในส่วนของการผ่าตัดสมอง หน้าอก และช่องท้อง ก่อนยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และร่วมกับภาคเอกชน พัฒนาขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ในระดับ GMP (Good Manufacturing Practice) ที่ได้มาตรฐานขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Environmental Protection Agency : US EPA) ต่อไป

“การเป็นนักวิจัยที่ประสบความสำเร็จ จะต้องมี DNA ของความเป็น Innovator อยู่ในตัว โดยเริ่มจากการตั้งคำถามจากปัญหาเร่งด่วนที่พบ แล้วพยายามหาคำตอบโดยผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่ทำการทดลองอย่างมีหลักการ และให้ผลที่พิสูจน์ได้ว่าใช้ประโยชน์ได้จริง”

“นอกจากนี้ ในโลกยุคปัจจุบันไม่มีใครจะสามารถบรรลุสู่เป้าหมายได้เพียงลำพัง จึงควรให้ความสำคัญในเรื่องของการสร้างเครือข่ายด้วยเช่นกัน ซึ่งแก่นแท้ของความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ การได้รางวัล แต่คือ การได้เรียนรู้” รศ.น.ท.ดร.นพ.สรยุทธ กล่าว