จับทิศทางธุรกิจอาหาร โอกาสและความท้าทายยุคโควิด-19

เมื่อเวลา 13.00 . วันที่ 3 ธันวาคม ที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (มติชนอคาเดมี) บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ ร่วมกับมติชนอคาเดมี จัดเสวนา NEXT NORMAL ก้าวต่อไปธุรกิจอาหาร ผ่านทาง Live Streaming ทางเพจเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์, ข่าวสดออนไลน์ และ มติชนอคาเดมี โดยมี ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย กรรมการรองผู้อำนวยการ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) และ ฟูจิ เซ็นเซ นักธุรกิจและนักวางแผนการลงทุนกว่า 10 กิจการ และเป็นอาจารย์สอนทำธุรกิจ ร่วมเสวนา

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

โดย ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวถึงมุมมอง Next Digital Economy เศรษฐกิจยุคดิจิทัลกับการเอาตัวรอดของธุรกิจอาหารว่า โลกทุกวันนี้เปลี่ยนเเปลงทุกวันทุกเวลา ทุกคนไม่ว่าอาชีพใด ก็ต้อง ‘อัพเดต’ ตัวเองอยู่เสมอ ธุรกิจอาหาร ต้องเจอกับคลื่นสึนามิลูกเเรกทางเทคโนโลยี เเล้วมาเจอสินามิอีกลูกคือ ‘โควิด19’ ที่ใครเก่งก็ไปต่อได้เร็ว เเต่ถ้าขยับไม่ทันก็ต้องจมลง ขณะที่โรคระบาด กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนเเปลง ทำให้รู้ว่า ‘ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส’ เป็นช่วงเวลาของเหล่าผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่จะมีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต เมื่อความก้าวหน้าของเเพลตฟอร์มเข้ามาพลิกธุรกิจอาหาร

โดยในช่วงวิกฤต คนไทยถือว่าปรับตัวรับเทคโนโลยีได้ค่อนข้างเร็ว ดูจากอัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ดีลิเวอรี่ การเรียนเเละทำงานออนไลน์ รวมไปถึงการเข้าถึงเเพลตฟอร์มดิจิทัลในโครงการคนละครึ่ง ไทยชนะ เเละเเอพพลิเคชั่นเป๋าตัง เป็นต้น

เเต่ในอีกมุมหนึ่ง วิกฤตโควิดทำให้ปัญหาความอ่อนเเอเเละความเหลื่อมล้ำในสังคมเด่นชัดมากขึ้น จำนวนคนไร้บ้าน เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า สิ่งนี้คือปัญหาที่จำเป็นที่ต้องเเก้ไขให้ได้

เมื่อพูดถึงโอกาสเเละความท้าทาย ดร.ชัชชาติ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกจะยังไม่กลับมาฟื้นตัวง่ายๆ เเละธุรกิจต่างๆ ในไทยยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะกลับมาได้เท่าระดับก่อนโควิด เพราะพึ่งพาการท่องเที่ยวอยู่มาก แต่นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาในเร็ววันนี้ บวกกับปัญหา ‘หนี้ครัวเรือน’ ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ข้าราชการยังพอมีกำลังซื้อ ลูกจ้างทั่วไปต้องประหยัดกันมากขึ้น

ธุรกิจยุคนี้ “ต้องวิ่งไปหาลูกค้า มากกว่าให้ลูกค้ามาหาเรา” เชื่อมธุรกิจผ่านเเพลตฟอร์ม ผู้บริโภคเชื่อในฟีดเเบ็กรีวิวคุณภาพอาหาร มากกว่าการโฆษณา ทำให้เกิดโอกาสใหม่ที่ไม่ต้องเช่าที่ราคาเเพงในกลางเมือง เเต่ขยับมาทำคลาวด์คิทเช่นเเทน หรือเเตกไลน์ไปยังธุรกิจใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง

ยกตัวอย่างกรณีของร้าน ‘ยู้ ลูกชิ้นปลาเยาวราช’ ที่มีการเปลี่ยนผ่านการบริหารงานมาถึงทายาทรุ่นที่ 3 กับการขยายสาขาใหม่ สร้างสตอรี่โปรโมตในช่องทางออนไลน์ต่างๆ เเละเปิดขายผ่านดีลิเวอรี่ ขณะเดียวกัน ก็มีการต่อยอดสินค้าจากการคิดกำจัดก้างและหนังปลาที่มีอยู่ มาผลิตเป็นเเบรนด์คอลลาเจนและแคลเซียมอาหารเสริมจากปลา

โลกเปลี่ยนจาก Brand Age ไปสู่ Product Age การทำโฆษณาเพื่อสร้างเเบรนด์ จะมีความสำคัญน้อยลง เเต่ลูกค้าจะเชื่อในการบอกต่อ การรีวิว การสนทนากันในกลุ่มเพื่อนทั้งต่อหน้าเเละโซเชียลมีเดีย ดังนั้นคุณภาพเเละความไว้วางใจ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด”

โดย ดร.ชัชชาติ เเนะนำถึงการรับมือของธุรกิจอาหาร ว่า เชื่อมั่นว่าทุกวิกฤตมีโอกาส กำหนด ‘กลยุทธ์’ ให้ชัดเจน ทั้งเรื่องราคา ความเเตกต่างเเละกลุ่มเป้าหมาย หาตลาดที่ตัวเองครองตลาดได้ ทำสินค้าเเละบริการที่มี ‘คุณภาพ’ เพราะ Product สำคัญกว่า Brand สร้างความไว้วางใจ (Trust) ในสินค้าเเละบริการ ในสถานการณ์ไม่เเน่นอน ธุรกิจต้องมีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้เสมอ พยายามสร้างสินค้าเเละการขายใหม่ที่มีการเเข่งขันน้อยที่สุด

ด้านมุมมองจากแบรนด์ขนมปังอันดับ 1 ที่อยู่คู่คนไทยมายาวนานอย่าง ‘ฟาร์มเฮ้าส์’ นายอภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย กล่าวถึง ‘Next Step 40 ปี ฟาร์มเฮ้าส์’ ฝ่าวิกฤตโควิดด้วย Automation Technology ว่า เเม้จะเป็นเเบรนด์เก่าเเก่ที่ติดตลาดเเละได้รับความนิยมอยู่เเล้ว เเต่ก็ต้องปรับตัวเเละรับมือการเปลี่ยนแปลงของ Digital Transformation อยู่เสมอ ยิ่งในช่วงโควิด19 เป็นโอกาสที่จะได้นำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในธุรกิจอาหารมากขึ้นเเละเร็วยิ่งขึ้น ทั้งการบริหารจัดการ กระบวนการผลิต การขนส่งและการบริการ

หัวใจของธุรกิจอาหารคือ ความสะอาดเเละปลอดภัย ในช่วงวิกฤตเราต้องคิดรับมืออย่างรวดเร็ว เช่นการกระจายฉีดวัคซีนในบริษัทให้ทั่วถึง เน้นควบคุมการผลิตด้วยระบบ Automation เเละมีเเผนสำรองอยู่เสมอ”

การมีซัพพลายเออร์เเละคู่ค้าที่ดี เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจของฟาร์มเฮ้าส์เติบโตมาได้หลายทศวรรษ การมี ‘สายส่ง’ อยู่ทั่วประเทศทำให้เข้าถึงคนไทยได้ง่าย โดยในช่วงโควิด ผู้คนอยู่บ้านเเละหันมาซื้อของทางออนไลน์มากขึ้น ทางเเบรนด์ก็มี ‘โปรโมชั่นส่งฟรี’ เมื่อซื้อสินค้าเพียง 150 บาทขึ้นไป เเละโปรโมชั่นเเจกเเถมต่างๆ พร้อมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ปรับให้เข้ากับเข้าไลฟ์สไตล์ของลูกค้ามากขึ้น เช่น ขนมปังบัตเตอร์สกอต ฯลฯ

โดยทุกกระบวนการจะต้องมีตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐานผ่าน อย. กรมโรงงาน Supplier ระดับโลก เช่น แมคโดนัลด์ เคเอฟซี ส่งคนจากต่างประเทศมาตรวจ รวมทั้งเรามีกองทหารจากสหรัฐเข้ามาตรวจโรงงานทุกปี เขาถือว่าขนมปังเป็นยุทธปัจจัย ถ้าเขามีเหตุ เขาจะต้องใช้ขนมปัง เราจะเป็นหนึ่งในตัวเลือก ทำมา 20-30 ปีแล้ว อย่างกรณีมีเรื่องคนติดในถ้ำหมูป่า หน่วยทหารปกติก็จะใช้ขนมปัง เป็นอาหารที่สามารถเก็บได้หลายวัน สามารถบี้ๆ เก็บไว้ แล้วก็หยิบขึ้นมากินตอนที่ต้องไปค้างแรมไกลๆ ถือเป็นยุทธปัจจัยอย่างหนึ่ง ซึ่งฟาร์มเฮ้าส์ผ่านมาตรฐานทุกอย่าง ได้คะแนนเต็มทุกปี

Marketeer ให้ฟาร์มเฮ้าส์เป็นแบรนด์อันดับ 1 ของไทย 4 ปีซ้อน รวมทั้งเรายังได้รางวัล World Branding Award ปี 2021 จากประเทศอังกฤษ ด้วย เราคิดว่าคุณภาพของเราไม่แพ้ชาติใดในโลก ในเรื่องเทคโนโลยีการผลิต เรานำคนอื่นเขาก่อน ถ้าในเมืองไทยค่อนข้างมั่นใจสูงเลยว่าของเราคุณภาพดีไม่แพ้ใคร ส่วนในอาเซียนก็ยังมั่นใจว่าเราเป็นอันดับต้นๆ”

นายอภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย
นายอภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย

ด้าน Next Step ของฟาร์มเฮ้าส์ นายอภิเศรษฐ กล่าวว่า เราปรับตัวอยู่เรื่อยๆ ต้องไม่หยุด เรื่องปัจจัยในการผลิต ปัจจัยในการบริหารงาน เป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถมีแต้มต่อ การพัฒนาเพิ่มขึ้นได้ด้วย อีกอย่างคือเรื่องคน หลายๆ คนทำงานในฟาร์มเฮ้าส์มาเกิน 20 ปี เราต้องพัฒนาให้เขาสามารถอธิบายเป็นขั้นเป็นตอน พัฒนาตัวเองได้อย่างเป็นระบบ

แผนของผมอยากให้บริษัทมีเรื่อง Digital Transformation ตรวจสอบได้ วัดผลได้ง่าย แก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว ในต้นปี 2565 จะมีแบรนด์แอมบาสเดอร์คนใหม่ เป็น AI น้องผู้หญิง มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ น้อง AI จะมาอยู่ในแพลตฟอร์มต่างๆ ของฟาร์มเฮ้าส์ แพลตฟอร์มการโฆษณา แพลตฟอร์มการขายอีคอมเมิร์ซ จะตอบโจทย์ลูกค้า ทำให้ลูกค้าเห็นว่าเราปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย รวมถึงจะมีโปรแกรม AI คำนวณสถิติลูกค้า ว่าลูกค้าชอบอะไร อยากได้อะไร โดยเราจะเปิดตัว AI ในต้นปี 2565 ตอนนี้ขออุบรายละเอียดเอาไว้ก่อน” นายอภิเศรษฐ กล่าว

ขณะที่ ฟูจิ เซ็นเซ กล่าวถึง Next Generation ธุรกิจยุคใหม่ของคนตัวเล็ก บนเส้นทางธุรกิจอาหารกับความมั่นคงยั่งยืน ว่า ศาสตร์สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 21 คือ “ศาสตร์ที่ทำให้คนอยาก” อยากซื้อ อยากลงทุน อยากเลื่อนตำแหน่ง วิธีการทำให้ฝันเป็นจริง คือ สร้างความแตกต่าง ธุรกิจโดดเด่น เป็น นัมเบอร์วัน ต้องมี ส.... คือ มีเสน่ห์ จุดเด่น จุดต่าง

นอกจากนี้ ฟูจิ เซ็นเซ ยังแนะนำเกี่ยวกับการจับมือร่วมกันทำธุรกิจ ว่า ความร่วมมือทำให้พัฒนาเร็ว ใช้เงินน้อย ลดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องถนัดทุกอย่าง ได้ประโยชน์ 2 ฝ่าย รู้สูตรลับข้อมูลลับ มีพลังต่อรอง พัฒนาขยายกิจการได้เร็ว และประหยัดแรงงาน

ส่วนกรณีที่ AI กำลังเข้ามาแทนแรงงานคน ฟูจิ เซ็นเซ ได้แนะนำการทำธุรกิจที่เอาชนะ AI ได้ อาทิ ธุรกิจที่ใช้ความรู้สึก เนื่องจาก AI ไม่มีความรู้สึก ยกตัวอย่าง ภัตตาคารญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง กินอาหารแล้วจะให้คำปรึกษาเรื่องความรักด้วย จัดเซอร์ไพรส์ขอแต่งงานให้ด้วย

ฟูจิ เซ็นเซย์
ฟูจิ เซ็นเซ

ฟูจิ เซ็นเซ กล่าวด้วยว่า การทำธุรกิจที่คนตัวเล็กสามารถเอาชนะคนตัวใหญ่ได้ คือ เรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เรื่อยๆ สร้างความแตกต่าง เปลี่ยนสิ่งที่เกลียดให้เป็นสิ่งที่ชอบให้ได้ อาทิ เปลี่ยนถั่วเน่าให้คนไทยชอบ รวมถึงทำธุรกิจที่คนยังไม่เคยทำ โดยฝากการบ้านถึงผู้ประกอบการว่า ต้องฝึกเจรจาต่อรอง ฝึกบริหารการเงิน ฝึกเทคนิคการขาย เเก้ปัญหาของลูกค้า สะกดใจคนซื้อให้ได้ หาวิธีเพิ่มลูกค้าในช่องทางต่างๆ ฝึกหา ‘ส....’ หาจุดอ่อนในวงการของคุณ เเละรู้จักความต้องการของลูกค้าอย่างเเท้จริง