ห่วง คนรุ่นใหม่ แห่ลงทุนสกุลเงินดิจิทัล ระวังเสี่ยงสูง พลาดอาจเป็นหนี้นอกระบบ

ห่วง คนรุ่นใหม่ แห่ลงทุนสกุลเงินดิจิทัล ระวังเสี่ยงสูง พลาดอาจเป็นหนี้นอกระบบ
ห่วง คนรุ่นใหม่ แห่ลงทุนสกุลเงินดิจิทัล ระวังเสี่ยงสูง พลาดอาจเป็นหนี้นอกระบบ

ห่วง คนรุ่นใหม่ แห่ลงทุนสกุลเงินดิจิทัล ระวังเสี่ยงสูง พลาดอาจเป็นหนี้นอกระบบ

ผศ.ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาวิชาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนทุกวันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องรูปแบบการใช้จ่าย จากเดิมที่เคยใช้เงินสด บัตรเครดิต เมื่อเข้าสู่ช่วงวิกฤต COVID-19 ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่หันไปใช้ระบบออนไลน์ ทั้งการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ใช้สแกน QR Code และการโอนเงิน เพื่อการใช้จ่ายแบบไร้สัมผัสกันมากขึ้น

เช่นเดียวกับการลงทุน พบว่า คนรุ่นใหม่สนใจใช้เงินสกุลดิจิทัล “Cryptocurrency” กันมากขึ้นทั่วโลก และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในประเทศไทย พบว่า เริ่มมีใช้ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กันบ้างแล้ว

ที่น่าเป็นห่วงคือ คนไทยส่วนใหญ่ยังขาด “ทักษะทางการเงิน” หรือ “Financial Literacy” ที่เพียงพอรองรับเทคโนโลยีดังกล่าว โดยแม้ว่าในคนรุ่นใหม่ จะเข้าถึงเทคโนโลยีในโลกยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วและง่ายกว่าคนรุ่นอื่นๆ แต่ประสบการณ์และความรู้ความเข้าใจอาจยังคงมีจำกัด

ซึ่ง “Cryptocurrency” เป็นการลงทุนที่มีการเก็งกำไรกันสูง แม้จะคล้ายกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ “การเล่นหุ้น” แต่ “การเล่นหุ้น” ยังมี “ความน่าจะเป็น” บนพื้นฐานของ “ธุรกิจจริง” มีผลประกอบการที่ใช้พิจารณาประกอบ อาจจะผันผวนบ้างตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคง

ผศ.ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาวิชาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล

ในขณะที่ “Cryptocurrency” มีความเสี่ยงสูงกว่า ผันผวนได้อย่างรวดเร็วตลอดเวลา อาจกลายเป็นเหมือน “แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ” ได้ หากผู้เล่นไม่รู้จักดีพอ บางสกุลมีการหลอกลวง บางสกุลมีการปล่อยข่าวสร้างภาพให้เกิดความหวังเกินจริง

“Cryptocurrency” เป็นเงินสกุลดิจิทัล ที่เกิดจากเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งใช้ระบบในการควบคุมการแลกเปลี่ยนซื้อขายโดยไม่ผ่านธนาคาร จึงไม่มีอะไรมารับประกันได้เลย

แม้ธุรกิจประเภท “Cryptocurrency” ในประเทศไทย จะมีผู้ประกอบการซึ่งเป็นคนไทย และควบคุมโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แต่การควบคุมการขึ้นสูงของราคายังไม่มีกลไกที่ดีเท่ากับตลาดหลักทรัพย์ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ซื้อขาย “Cryptocurrency” สามารถใช้เแอพพลิเคชั่นของต่างประเทศ ซื้อขายกันได้โดยง่ายไร้ข้อจำกัด ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนหน้าใหม่ในประเทศไทยเช่นกัน

ผศ.ดร.บุญยิ่ง ยังแสดงความห่วงใยถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ทิ้งท้ายว่า ไม่แนะนำในกรณีที่เป็นนักเรียนนักศึกษา ซึ่งต้องถึงกับเอาเงินที่ผู้ปกครองส่งมาให้เป็นค่าเทอม ไปลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงจนเกิดความเสียหาย กลายเป็นหนี้นอกระบบ

แม้ทุกคนมีสิทธิที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในโลกอนาคต โดยอาจลงทุนด้วย “Cryptocurrency” เก็บไว้ได้บ้าง หากเงินลงทุนนั้นไม่กระทบต่อภาระที่ต้องใช้จ่ายในชีวิตปัจจุบัน ถึงในวันนี้จะโชคดีได้เป็นเศรษฐี “อายุน้อยร้อยล้าน” แต่เพียงไม่กี่วันอาจ “พลิกฝ่ามือ” กลายเป็นสถานะตรงกันข้ามได้

จึงอยากให้มีการศึกษาข้อมูลเพื่อเรียนรู้ทำความเข้าใจให้ดีก่อนการลงทุน โดยที่จะต้องไม่ลืมเก็บออม แม้จะยังไม่ถึงวัยเกษียณ แต่การคิดเผื่อไว้ ในวันที่ไม่มีรายได้จากการทำงาน และการเก็บออมจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไรให้ยั่งยืน ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง