ครม.ไฟเขียว กม.ล้มละลายฉบับใหม่ ตามทวงหนี้-ล่าสมบัติในต่างประเทศได้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ล้มละลายฉบับใหม่ ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปกระบวนการล้มละลายของไทยให้มีประสิทธิภาพ เข้าสู่มาตรฐานสากล สอดคล้องกับกฎหมายล้มละลายในต่างประเทศ ช่วยรองรับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศและเพิ่มความสะดวกในการเข้ามาทำธุรกิจของต่างประเทศ สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่มีความเจริญทางด้านเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกทำให้การค้าการลงทุนมีความรวดเร็วและข้ามพรมแดนมากขึ้น

พ.ร.บ.ล้มละลายฉบับใหม่ได้ปรับปรุงบทบัญญัติให้รองรับการล้มละลายระหว่างประเทศตามกรอบของคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันมี 41 ประเทศที่มีกฎหมายที่ยึดหลักตามกฎหมายแม่แบบว่าด้วยการล้มละลายข้ามชาติ โดยในภูมิภาคเอเชียมี 3 ประเทศ ได้แก่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 4 ของเอเชียที่มีกฎหมายภายในที่ยึดหลักตามกฎหมายแม่แบบว่าด้วยล้มละลายข้ามชาติดังกล่าว ขณะที่สิงคโปร์อยู่ระหว่างการพิจารณายกร่างกฎหมายภายในเช่นกัน

“กฎหมายล้มละลายฉบับใหม่จะช่วยให้ประเทศไทย สามารถติดตามสืบหาทรัพย์ในต่างประเทศของลูกหนี้ที่ล้มละลายได้เป็นครั้งแรก เช่น กรณีที่มีคดีล้มละลายในประเทศไทย แต่ได้นำทรัพย์สินไปไว้ในต่างประเทศ เมื่อศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว จะสืบหาทรัพย์มาชดใช้หนี้ได้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ปลดล็อคและเปิดโอกาสให้สามารถไปติดตามสืบหาทรัพย์ที่ไปซุกซ่อนในต่างประเทศได้ จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้นและทำให้ประเทศได้รับความเป็นธรรมมากขึ้นเช่นกัน เพราะบางครั้งเป็นความผิดต่อรัฐ ซึ่งคนที่ถูกฟ้องร้องรู้ว่ากระบวนการทางศาลใช้เวลานาน ระหว่างทางได้เอาเงินไซฟ่อนออกไปอยู่ต่างประเทศ เมื่อพิพากษาให้ล้มละลายแล้วเสร็จจึงติดตามหนี้ได้ไม่มากนักทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ ในอนาคตกฎหมายฉบับนี้จะเอื้อให้รัฐบาลหรือเจ้าหนี้สามารถติดตามเอาทรัพย์ในต่างประเทศมาได้”นายกอบศักดิ์กล่าว

ไทยตั้งใจจะให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ให้ทันภายในเดือนมิ.ย.2560 เพื่อให้ได้รับคะแนนในการปรับอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจดีขึ้น จะทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มาธุรกิจในประเทศไทยดีขึ้น โดยการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ(Ease of Doing Business) ของธนาคารโลกที่จะประกาศในปี 2561 นั้น ทางธนาคารโลกจะจัดส่งแบบสอบถามไปยังผู้ตอบแบบสอบถามและกำหนดให้ผู้ตอบแบบสอบถามส่งคำตอบภายในเดือนมี.ค.-เม.ย.2560 และสิ้นสุดการเก็บข้อมูลก่อนวันที่ 1 มิ.ย.2560 ดังนั้นร่างพระราชบัญญัติล้มละลายฉบับใหม่จึงจำเป็นต้องมีผลใช้บังคับก่อนวันที่ 1 มิ.ย.2560 เพื่อให้ทันกับการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจในปี 2561

นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เรื่องมติของเจ้าหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เดิมเจ้าหนี้ต้องมีมติเห็นชอบ 3 ใน 4 ปรับลดลงเหลือ 2ใน3 จะทำให้กระบวนการฟื้นฟูกิจการมีความเห็นชอบร่วมกันได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ และสถาบันการเงินต้องให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ในการสืบหาทรัพย์ต่างๆของลูกหนี้เพื่อสะดวกต่อการจ่ายชำระหนี้ และกำหนดเป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้ที่จะไปหาว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้ซ่อนอยู่ที่ใดบ้างได้ด้วย จะทำให้กระบวนการติดตามชำระหนี้ต่างๆดีขึ้น

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์