ดีเดย! 1 ม.ค.60 ตรวจสุขภาพผู้ประกันตน คปค. ขอเพิ่มตรวจช่องปาก ตรวจตั้งครรภ์

เครือข่ายผู้ประกันตน 17 องค์กร รวมตัวยื่นหนังสือ เลขาฯสปส. ขอเพิ่มตรวจสุขภาพช่องปาก ตรวจตั้งครรภ์ ด้าน ‘หมอสุรเดช’ รับลูก แต่กรณีตรวจตามกลุ่มวัย คงแก้ไขไม่ได้

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่กระทรวงแรงงาน ภาคีเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน ประกอบด้วย องค์กรภาคีเครือข่าย 17 องค์กร อาทิ เครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ฯลฯ นำโดย นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เข้าร่วมประชุมหารือและยื่นหนังสือต่อ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กรณีติดตามความคืบหน้าการปฏิรูประบบประกันสังคม ทั้งนี้ ข้อเสนอในการหารือมีทั้งหมด 5 ประเด็น คือ 1.การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มาตรา 63(2) และเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ประกันตนกรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ มาตรา 63(7) (2) การเพิ่มและขยายสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตนแรงงานนอกระบบ ตามมาตรา 40 ให้เท่ากับมาตรา 39 3.การเร่งรัดการออกอนุบัญญัติ ตามพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 จำนวน 17 ฉบับ 4.สิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมแก่ผู้ประกันตน 5.กรณีผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพถูกตัดสิทธิการรักษาจากประกันสังคมไปใช้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

นายมนัสกล่าวว่า กรณีการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งมีการจัดตรวจสุขภาพฟรีนั้น มองว่ายังขาดการประสานงานกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ซึ่งมีกฎหมายบังคับให้กิจการบางประเภทที่มีความเสี่ยงต้องจัดตรวจสุขภาพให้แก่ลูกจ้างอยู่แล้ว และเมื่อพบว่าป่วยก็ต้องดูแลรักษาโดยใช้เงินจากกองทุนเงินทดแทน ซึ่งมีเพดานการเบิกอยู่ที่ 1 ล้านบาท ซึ่งหากเกินเพดานจากนี้ก็ต้องประสานการรักษาจากกองทุนรักษาพยาบาลของประกันสังคม แต่ที่ผ่านมายังขาดการประสานข้อมูลกันในการดูแลความต่อเนื่องการรักษาของผู้ประกันตน สำหรับสิทธิตรวจสุขภาพฟรีนั้นยืนยันว่าไม่ควรมีการกำหนดอายุ เพราะทุกคนมีการจ่ายเงินสมทบเหมือนกันถือเป็นการจำกัดสิทธิ

“นอกจากนี้ ยังขอเสนอให้เพิ่มการตรวจสุขภาพช่องปากและการฝากครรภ์ ให้อยู่ในสิทธิตรวจสุขภาพฟรีดังกล่าวด้วย เพราะที่ผ่านมาพบว่าในส่วนของผู้ประกันตนนั้นมักไปใช้สิทธิรักษาทันตกรรมช่วงปลายปีก่อนที่จะหมดสิทธิ ทั้งที่อาจไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่การเพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพช่องปากจะช่วยให้ผู้ประกันตนรู้ว่าสุขภาพช่องปากของตัวเองเป็นอย่างไร ต้องรักษาในเรื่องใดบ้าง ขณะที่การฝากครรภ์นั้นมักพบว่า ผู้ประกันตนที่ตั้งครรภ์ไม่ค่อยมาฝากครรภ์เหมือนคนในสิทธิบัตรทอง เพราะต้องเสียเวลาในการทำงานและมีค่าใช้จ่าย จึงอยากเก็บเงินไว้ใช้ในช่วงหลังคลอดมากกว่า การให้สิทธิตรวจสุขภาพครอบคลุมเรื่องการฝากครรภ์ด้วยก็จะช่วยเพิ่มอัตราการฝากครรภ์ได้” นายมนัสกล่าว

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องต่างๆนั้น ทางสปส.ยินดีรับไว้พิจารณา เบื้องต้นข้อเสนอการตรวจสุขภาพผู้ประกันตนที่จะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 นั้น ทางเครือข่ายเสนอขอให้มีการตรวจสุขภาพช่องปาก ในเรื่องทันตกรรม รวมทั้งเรื่องการตรวจการตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ อยากให้อยู่ในการตรวจสุขภาพนั้น สปส.ก็จะรับไว้พิจารณา มองว่าน่าจะปรับปรุงเพิ่มเติมได้ แต่ในเรื่องผู้ประกันตนที่เกษียณอายุไปแล้ว และอยากให้ สปส.ดูแลการรักษาพยาบาลต่อนั้น เรื่องนี้ต้องแก้กฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อไป

เมื่อถามว่า ข้อเสนออยากให้การตรวจสุขภาพไม่ต้องแบ่งตามอายุ นพ.สุรเดชกล่าวว่า ขอย้ำว่าที่แบ่งอายุ กำหนดช่วงวัยเริ่มที่อายุ 15 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นช่วงตามกฎหมายประกันสังคม ซึ่งกำหนดการทำงานอายุ 15 ปีขึ้นไปและการตรวจสุขภาพตามกลุ่มวัยก็เป็นการจำแนกแล้วว่า กลุ่มวัยนั้นจำเป็นตรวจอะไรบ้าง เพราะบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องตรวจ ซึ่งตรงนี้อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าอิงข้อมูลวิชาการจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

นพ.สุรเดชกล่าวว่า ขณะนี้ได้ทำหนังสือเวียนไปยังโรงพยาบาลคู่สัญญาทุกแห่งแล้ว คาดว่าจะได้รับพร้อมกันทั้งหมดไม่เกิน 2 วันนับจากนี้ ซึ่งผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการตรวจสุขภาพได้ตามกลุ่มวัย โดยเข้าไปดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ สปส.http://www.sso.go.th เมื่อถามว่า การบริหารจัดการงบ 1,500-1,800 ล้านบาทสำหรับการตรวจสุขภาพนั้น นำมาจากส่วนไหน นพ.สุรเดช กล่าวว่า เป็นงบจากกองทุนฯ แต่ผ่านการคำนวณตามหลักทางคณิตศาสตร์แล้ว ซึ่งไม่ใช่การเหมาจ่าย แต่จะจ่ายตามจริงที่ทางรพ.เสนอมาว่า มีผู้ประกันตนตรวจสุขภาพกี่คน และอะไรบ้าง ตรงนี้จะป้องกันไม่ให้ รพ.นำเงินไปใช้ โดยไม่มีผู้ประกันตนเข้ารับบริการ

รศ.นพ.จิตตินัดด์ หะวานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า การเพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพฟรีให้แก่ผู้ประกันตนนั้น ก่อนอื่น สปส.ต้องคุยเรื่องค่าใช้จ่ายรายการตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลที่รับผู้ประกันตนก่อน ว่าค่าใช้จ่ายรายการตรวจแต่ละอย่างให้เท่าไร นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละโรงพยาบาลด้วย เพราะอย่างโรงพยาบาลขนาดเล็กอาจไม่สามารถตรวจสุขภาพได้ทุกรายการตามที่ สปส.กำหนด บางแห่งที่ทำไม่ได้ อาจต้องส่งตรวจห้องปฏิบัติการภายนอก ซึ่งราคาจะสูงเกินกว่าที่ราคาที่ สปส.ให้หรือไม่ ตรงนี้ก็จะกลายเป็นภาระแก่โรงพยาบาลอีก ที่สำคัญ คือ โรงพยาบาลที่รองรับผู้ประกันตนจำนวนมากหลักเรือนแสนคน จะมีศักยภาพเพียงพอในการรองรับจำนวนคนที่ตรวจหรือไม่

“อย่างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เรามีการตรวจสุขภาพอยู่แล้ว รวมถึงมีการออกตรวจสุขภาพนอกพื้นที่ เชื่อว่าไม่มีปัญหาในการให้บริการตรวจสุขภาพ เพราะจำนวนผู้ประกันตนของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เองก็อยู่ประมาณ 3 หมื่นกว่าคน อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายแต่ละรายการตรวจที่ต้องชัดเจนแล้ว มองว่าหากตรวจสุขภาพแล้วเจอความผิดปกติ แล้วต้องมีการตรวจอย่างอื่นเพิ่ม ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตรงนี้ สปส.รองรับด้วยหรือไม่ เช่น ตรวจพบความผิดปกติของตับ หรือตรวจเจอนิ่ว ที่จะต้องมีการอัลตราซาวนด์เพิ่ม ค่าใช้จ่ายตรงนี้ สปส.ครอบคลุมหรือไม่ก็ต้องกำหนดให้ชัดเจน หรือถือว่าเป็นค่ารักษารายหัวที่ สปส.ให้แต่ละโรงพยาบาลก็ต้องกำหนดให้ชัดเจน เพื่อไม่เป็นภาระแก่โรงพยาบาล” รศ.นพ.จิตตินัดด์กล่าว

พญ.จริยา แสงสัจจา ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า ทางสถาบันรับดูแลคนไข้ในสิทธิประกันสังคม ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถบอกยอดแน่นอนได้ คาดว่ามีประมาณ 10,000 คน สาเหตุที่ยังบอกไม่ได้เพราะยอดยังไม่นิ่งต้องรอทางสำนักงานประกันสังคมโอนผู้ประกันตนส่วนหนึ่งจากโรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน ที่จะหยุดรับผู้รับบริการในสิทธิประกันสังคม ซึ่งในเรื่องการตรวจสุขภาพนั้น ทางสถาบันมีความพร้อมให้บริการ