เข้าปีใหม่แต่โควิดยังอยู่! 5 แนวโน้มทางธุรกิจ ที่ SMEs ไม่อาจหลีกเลี่ยง ในปี 2022

เข้าปีใหม่แต่โควิดยังอยู่! เปิด 5 แนวโน้มความท้าทาย ทางธุรกิจ ที่ SMEs ไม่อาจหลีกเลี่ยง ในปี 2022 

ตลอดระยะเวลาของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2019 ถึงตอนนี้ หลากหลายธุรกิจต่างยอมรับสถานการณ์ และนำไปสู่การปรับตัวสู่การทำธุรกิจวิถีใหม่ จนมีความสามารถในการปรับตัวและแข่งขันได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกยังคงต้องการเวลา และ SMEs ในปัจจุบันต่างยังคงค่อยๆ กลับสู่ภาวะ ‘ปกติ’ ให้ได้เสียก่อน เว็บไซต์ ธนาคารกรุงเทพ เผยว่า ขณะที่จากรายงานล่าสุดของ Gartner ระบุว่า ความท้าทาย SMEs จะเผชิญระหว่างการระบาดใหญ่ในปีหน้านั้น มีประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่นัก แต่ดูเหมือนว่าปัญหาเหล่านี้เริ่มทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีหน้า มีอยู่ด้วยกัน 5 ประเด็น ดังนี้

1. การเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลอย่างแท้จริง  

SMEs มีการเริ่มปรับบทบาทไปสู่องค์กรดิจิทัลมากขึ้น แต่อาจยังไม่ได้มุ่งสู่การเปลี่ยนผ่าน ไปสู่องค์กรดิจิทัลที่มีการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพงาน การให้บริการ และการส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีให้กับพนักงานในส่วนที่มีความจำเป็นอยู่เสมอ จะทำให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและแข่งขันได้ เพราะจากแนวโน้มที่ทุกสำนักวิเคราะห์ไว้ ในปีหน้าโลกเสมือน หรือโลกดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญต่อทุกธุรกิจ จึงเป็นเรื่องที่ SMEs ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น

2. ความยากลำบากในการวางแผนในอนาคต

การระบาดของโควิดเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก SMEs ไม่น้อยจึงประสบกับปัญหาการวางแผนงานในอนาคต เพราะยังไม่สามารถกำหนดทิศทาง หรือเป้าหมายด้านการตลาดที่ชัดเจนได้เหมือนเมื่อก่อน ดังนั้น การปรับแผนให้มีความยืดหยุ่น และการทำแผนรับมือในเหตุการณ์ไม่ปกติ จึงยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ SMEs ยังต้องทำต่อไปในปี 2022

3. ความเหนื่อยหน่ายของบุคลากรเพิ่มขึ้น

ด้วยสภาพสังคมท่ามกลางโควิด ทำให้ผู้คนเกิดความเบื่อหน่ายในการต้องระมัดระวังป้องกันโรค หรือแม้กระทั่งการเหนื่อยหน่ายกับงานที่ทำ จึงอาจส่งผลให้ แรงงานอาจจะหาได้ยากขึ้น และบุคลากรที่สำคัญธุรกิจอาจจะรั้งไว้ไม่ได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ SMEs ต้องสร้างแรงจูงใจให้กับบุคลากร การสร้างหลักประกันที่ปลอดภัย และเข้าใจปัญหา จะทำให้ SMEs บรรเทาปัญหาที่อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้

4. ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น

ในปีหน้า SMEs จะต้องเผชิญกับเรื่องของต้นทุนแทบทุกด้านจะเพิ่มขึ้น เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลต่อราคาค่าขนส่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานยังส่งผลกระทบต่อการผลิตทั่วโลก ส่งผลให้ใช้เวลาจัดส่งนานขึ้นและการขาดแคลนสินค้ามีแนวโน้มอย่างมากที่จะเกิดขึ้นอีกนั่นเอง

5. ข้อมูลล้นระบบ 

ในการทำธุรกิจในยุคสมัยนี้ SMEs ให้ความสำคัญกับเรื่อง Big Data หรือข้อมูลธุรกิจ เป็นอย่างงมาก แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า การจัดเก็บข้อมูลและการสร้างระบบข้อมูลเพื่อให้เกิดการจัดเก็บและสืบค้น ตลอดจนการนำมาวิเคราะห์นั้นล้วนมีค่าใช้จ่าย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเลือกเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หรือสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เท่านั้น ซึ่งอาจจะต้องผ่านการวิเคราะห์และรวบรวมโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและเป็นการได้ข้อมูลที่จำเป็นจริงๆ นั่นเอง