โทษของขยะพลาสติกไม่ต้องพูดถึง เยอะแยะไปหมด ทำยังไงคนไทยถึงจะเลิกใช้

โทษของขยะพลาสติกไม่ต้องพูดถึง เยอะแยะไปหมด ทำยังไงคนไทยถึงจะเลิกใช้
โทษของขยะพลาสติกไม่ต้องพูดถึง เยอะแยะไปหมด ทำยังไงคนไทยถึงจะเลิกใช้

โทษของขยะพลาสติกไม่ต้องพูดถึง เยอะแยะไปหมด ทำยังไงคนไทยถึงจะเลิกใช้

พลาสติก บนโลกนี้เยอะแยะไปหมด และยิ่งเยอะมากในช่วงโควิดนี้ หลอดพลาสติก ถุงพลาสติก ผ้าอ้อม รวมถึงหน้ากากอนามัยที่ทิ้งกันทุกวันนี้ด้วย ใช้เวลาย่อยสลาย 500 ปี ส่วนกล่องโฟมไม่ย่อยสลายเลย อยู่ไงอยู่งั้น เราตายแล้วเกิดใหม่ 5 ชาติ ก็ยังมีโอกาสกลับมาเจอพลาสติกที่เราทิ้งไว้อยู่ ระหว่างทางพลาสติกย่อยสลายมันจะแตกกลายเป็นเศษเล็ก

และเล็กมากขนาดตามองไม่เห็นเรียกว่า ไมโครพลาสติก ไอ้ตัวนี้ก็กระจายไปอยู่ในดิน ในน้ำ ต้นไม้ดูดเข้าไป สัตว์กินเข้าไป คนไปกินเจ้าพวกนี้อีกที อีกสักไม่กี่ชาติ คนคงวิวัฒนาการเป็นมนุษย์พลาสติกโดยไม่ต้องผ่าตัด

ส่วนโทษของขยะพลาสติกตรงๆไม่ต้องพูดถึง ปนอยู่ในดิน กองขยะ ปลิวตามทางเท้า สกปรก อุดตันท่อ ลงแม่น้ำ ลำคลอง ตื้นเขิน ลงทะเล มหาสมุทร ทั้งเต่า ปลาโลมา ปลาวาฬ กินพลาสติกเข้าไปตายหลายตัวแล้ว

นักวิชาการเขาบอกว่าขยะพลาสติกที่เราทิ้งๆ กัน มีเพียง 9% ถูกนำกลับไปรีไซเคิลหรือนำกลับไปใช้ใหม่ได้ 12% ถูกนำไปเผากลายเป็นมลพิษ อีก 79% เหลืออยู่ในดิน ในน้ำ ให้เราเกิดใหม่มาจ๊ะเอ๋อีกที

ยุคดีลิเวอรี่ขยะพลาสติกมากขึ้นกว่าปกติโดยเลี่ยงไม่ได้ เกือบทุกเจ้าหันมาใช้กล่องชานอ้อยหรือกล่องกระดาษแทนกล่องโฟม ข้อดีคือมันย่อยสลายได้เร็ว ข้อเสียคือมันกลายเป็นขยะเปื้อนอาหารที่เอาไปทำอะไรไม่ได้แล้ว เป็นขยะเหม็นเน่าอยู่ดี แล้วยิ่งกว่านั้นด้วยความที่แม่ค้าหวังดี กล่องชานอ้อยมันเปื่อยง่าย เจอข้าวแฉะได้ เลยรองด้วยถุงพลาสติกข้างในอีกใบ เลยกลายเป็นขยะซับซ้อน

กล่องอาหารพลาสติก

กล่องอีกประเภท คือ กล่องพลาสติกชนิดรีไซเคิลได้ทั้งตัวและฝา แต่ความเป็นจริงก็คือ มันเปื้อนอาหาร คนจะเก็บไปรีไซเคิลก็ไม่อยากเก็บ คนกินก็ขี้เกียจล้าง และขี้เกียจแยกขยะ ส่วนคนเก็บขยะผมไม่รู้ว่าเขาเก็บไปล้างขายต่อหรือไม่ เลยเป็นที่มาว่าขยะพลาสติกถึงจะรีไซเคิลได้ก็นำกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เพียงแค่ 9% ที่เหลือทิ้งทับถมกัน

ในกล่องอาหารยังต้องใส่ช้อนส้อมพลาสติก หรือตะเกียบพลาสติก ถุงใส่เครื่องปรุงแยกชนิด ถุงหูหิ้วพลาสติกใส่อาหาร เครื่องดื่มต้องมีถ้วยพลาสติก ถุงหูหิ้วพลาสติก หลอดพลาสติกใส่ถุงหุ้มพลาสติก แล้วจะไม่ให้เบื่อพลาสติกได้ไง ดีหน่อยที่เดี๋ยวนี้ในแอพสั่งอาหารมีช่องให้ติ๊กได้ว่า เอาหรือไม่เอาช้อนส้อม ตะเกียบ ลดขยะไปได้นิดหนึ่ง

แล้วตอบด้วยความสัตย์จริง ผมทำเรื่องร้านอาหารสีเขียวเป็นกรรมการอยู่กับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกันคิดค้นหาวิธีลดการใช้พลาสติกให้คนไทย ก็ไม่รู้จะทำยังไง จะเอาอะไรใส่แกง อาหารเป็นน้ำ หนีไม่พ้นถ้วยพลาสติกอยู่ดี พวกน้ำจิ้มไม่ใส่ถุงพลาสติกก็ต้องเป็นถ้วยพลาสติกเล็กๆ มีฝาปิด พอมายุคโควิดตามร้านอาหารต้องแยกช้อนส้อม ตะเกียบ ทิชชู ตวักตะบวยใส่ถุงพลาสติกแยกชิ้นเพิ่มเข้าไปอีก เพื่ออนามัย ผมคิดเล่นๆ เจ้าเชื้อโควิดมันฉลาดเอาการน่าจะแอบดอดไปอยู่กับช้อนส้อมก่อนใส่ถุงเพราะต้องใช้มือคนทั้งนั้น ไม่งั้นต้องอบทั้งแพ็กฆ่าเชื้ออีกที เฮ้อ!…

บริษัทใหญ่ๆ เขาเริ่มโครงการให้เอากล่องใส่อาหารใช้แล้ว ล้างแล้วด้วยนะไปหย่อนตามที่ต่างๆ ซึ่งยังมีน้อยมาก เพื่อเอาไปรีไซเคิลได้ตรงเป้า พวกขวดน้ำพลาสติก ขวดน้ำหวานก็เหมือนกัน แต่ต้องล้างให้เขาก่อน ไม่งั้นเหม็น มดขึ้นแย่

คัดแยกขยะ

ความยากลำบากในการเป็นคนดีเพื่อสิ่งแวดล้อมยังไม่หมด ให้คัดแยกขยะ มีขยะเปียกคือขยะอาหารเอาไปทำปุ๋ยหมักได้ ขยะรีไซเคิลคือของขายได้ เช่น กล่องอาหารรีไซเคิล (ต้องล้างแล้ว) ขวดน้ำ กระป๋องเบียร์ ขยะทั่วไปคือขยะที่ขายไม่ได้เป็นเศษเล็กเศษน้อย เอาไปรีไซเคิลไม่ได้ หรือเปื้อนขยะอาหารสิ่งปฏิกูล เช่น เศษกระดาษ กล่องโฟม กล่องอาหารที่ยังไม่ได้ล้าง ทิชชูเช็ดขี้หมา สุดท้าย คือ ขยะอันตราย ตอนนี้แยกย่อยออกเป็น ขยะติดเชื้อ คือ หน้ากากอนามัยกันโควิดนั่นแหละ และขยะพวกขวดใส่น้ำยาล้างห้องน้ำ แบตเตอรี่ หลอดไฟ พวกนี้มีสารโลหะหนัก อย่างตะกั่ว รั่วซึมลงดินได้ ทำให้ดินเป็นพิษ

ยังไม่มีใครทำสถิติว่าตามบ้านช่องอย่างของคุณ ของผมนี่ มีสักกี่บ้านที่แยกขยะได้ หรือคิดจะแยกขยะ ส่วนใหญ่ที่ทำได้คือตามร้านอาหาร โรงแรม บริษัท ตึกใหญ่ๆ แล้วที่ทุกคนสงสัยเหมือนกันคือในประเทศไทยนี้คนเก็บขยะเขาก็จะเก็บขยะทุกประเภทรวมกันใส่รถคันเดียวกัน แล้วเขาไปแยกอีกทีหรือเปล่า ทาง กทม. เคยตอบผมว่าคนขนขยะเขาไปแยกอีกที เบื้องต้นถ้าเป็นขวดน้ำขายได้เลยเขาใส่ไว้ถุงหนึ่งท้ายรถ ถ้าเป็นถุงขยะรวมๆ เขาถึงบีบอัดให้เก็บขยะได้มากขึ้น

ผมเคยไปดูโรงขยะของเอกชนที่เกาะแห่งหนึ่ง ทำเป็นเรื่องเป็นราวมาก คัดแยกขยะตั้งแต่เก็บ ขนเอาขวดพลาสติกขึ้นเรือไปส่งโรงงานบนฝั่ง ส่วนเศษอาหารเอาไปเข้าถังหมัก เร่งปฏิกิริยาได้เป็นแก๊สเชื้อเพลิงใช้หุงต้มได้ แต่ยังไม่พอใช้ทั้งเกาะ เลยได้แค่พนักงานโรงขยะ อีกส่วนเอาไปทำปุ๋ยหมัก พวกอะลูมิเนียม โลหะ แยกชนิดแล้วบีบอัด นำส่งขึ้นไปรีไซเคิลบนฝั่งอีกที เห็นแล้วก็ดีใจถ้าขยะทั้งประเทศเราทำได้อย่างนี้ทุกแห่งทุกจังหวัดประเทศไทยไปโลด

ทางรัฐบาลบอกว่าภายในปี 2565-2566 จะเลิกใช้กล่องโฟม หลอดพลาสติกให้หมดไปจากประเทศไทย ขออนุโมทนาสาธุ ผมตามอ่านเรื่องการลดขยะพลาสติกนี้จากที่ต่างๆ ก็ยังไม่เห็นข้อเสนอแนะที่ประชาชนจะทำได้และโดนใจจั๋ง ก็มีให้คัดแยกขยะอย่างที่บอก ซึ่งคงต้องไปป้อนข้อมูล รณรงค์กันอีกหนักมากถึงจะเปลี่ยนคนไทยให้คิดทิ้งขยะเป็นพวกกันได้ทุกคน ง่ายๆ เลยแม่บ้านรักโลกอยากแยกขยะ แต่เจอคุณพ่อจอมขวาง คุณลูกจอมเละ แล้วจะไปแยกได้ไง ถ้าทุกคนไม่คิดเหมือนกัน มีอย่างเดียวคือต้องสั่งให้ทำตาม ซึ่งผิดหลักการของการส่งเสริมการรักษ์โลกที่ทุกคนต้องร่วมทำด้วยใจมันถึงจะยั่งยืน

ทิ้งให้ถูกถัง

ให้ลดการใช้พลาสติก อย่างที่ร่ายมาผมยังมองไม่เห็นว่าจะมีวัสดุ ภาชนะอะไรที่มาแทนที่พลาสติก กักเก็บน้ำได้ ไม่รั่วซึม ภายในเร็ววัน บริษัทโรงงานพวกไบโอพลาสติกออกมาประชาสัมพันธ์อยู่เหมือนกันว่าเขามีภาชนะย่อยสลายได้ใส่น้ำแกงได้ขายนะ แต่มันแพง และต้องสั่ง หาซื้อตามร้านทั่วไปยาก มันเลยยังไม่เกิด มีคนเสนอรัฐบาลก็สั่งเปลี่ยนเลยซิ พวกโรงงานที่ทำพลาสติกให้เปลี่ยนมาทำไบโอพลาสติกให้หมด ก็หมดเรื่อง ของจะได้ราคาถูกลงด้วย

อะฮ้า!…อย่างนั้นไม่ได้ครับ มันเป็นเผด็จการ ประชาธิปไตย ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน มีสถิติบอกว่า ไทยกับมาเลเซีย เป็น 2 ประเทศในเอเชียที่สั่งนำเข้าเม็ดพลาสติกมาทำพลาสติกมากที่สุด ถ้าให้โรงงานพลาสติกเลิกผลิตพลาสติกทันที ก็ล่มจมซิครับ

ให้ลูกค้าเอาภาชนะไปใส่แทนภาชนะพลาสติก ได้สักกี่เปอร์เซ็นต์ก็ไม่รู้ เป็นไปได้กับพวกอาหารปิ่นโต หรือร้านใกล้บ้าน ดีลิเวอรี่หมดสิทธิ์

เลิกซื้อไปเลย อดทั้งคนสั่ง คนขาย หมดสิทธิ์

มีวิธีไหนอีก คิดไม่ออกแล้วครับ จนปัญญาจริงๆ  เมื่อกลางวันผมยังต้องจำใจทิ้งกล่องชานอ้อยมีเศษข้าวหน้าเป็ดติดบนถุงพลาสติกรองก้นกล่อง มีถุงพลาสติกใส่น้ำราดเป็ดซึ่งเหลือน้ำราดเป็ดอยู่อีกครึ่งถุง เขาให้มาเยอะ และถุงน้ำจิ้มมีน้ำจิ้มเหลืออีกหน่อย หนังสติ๊กมัดถุงเก็บไว้ใช้ 2 เส้น ที่เหลือต้องทิ้งรวมกันหมดเป็นขยะทั่วไป ผมยังไม่รู้จะเอาเศษอาหารไปทิ้งรวมกันที่ไหน แล้วจะเอาไปทำอะไร จะตั้งถังทำปุ๋ยหมักแบบปิดไว้เหม็นแน่ ที่เขาทำปุ๋ยหมักได้ดีคือ มีที่ กองใบไม้ ใส่ขยะอาหารทับ ราดน้ำหมักชีวภาพ เอาใบไม้ทับอีกที ทำทับกันไปเรื่อยๆ อย่างนี้มันก็ไม่เหม็น แมลงวันไม่ตอม บ้านคนที่มีเนื้อที่น้อยเห็นจะหมดสิทธิ์ครับ

ที่ผมทำได้ดีที่สุด คือ พลาสติกอะไรยังเก็บไว้ใช้ได้ ล้างได้ เก็บไว้ใช้อีกสักครั้ง เช่น ถุงพลาสติก กล่องพลาสติก แต่อย่าเอาไปใส่อาหาร ของพวกนี้เขาทำให้ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ปฏิเสธพลาสติกที่ไม่จำเป็น เช่น ช้อนส้อม หลอด งดซื้องดสั่งไปบ้าง คัดแยกขยะที่พอทำได้ อย่างพวกขวดน้ำผมแยกไว้ขายได้ตังค์ค่าขนม พอหายเบื่อพลาสติกไปได้บ้างนิดหนึ่ง