เทรนด์การใช้ชีวิตหลังโควิด-19 กับ 10 ปัจจัย ที่ผู้ประกอบการควรรู้และปรับตัว

เทรนด์ใช้ชีวิต Next Normal หลังโควิด-19 กับ 10 ปัจจัย ที่ผู้ประกอบการควรรู้และปรับตัว

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบให้รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเปิดรับเทคโนโลยี บริการดิจิทัลใหม่ๆ รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ นำไปสู่เทรนด์การใช้ชีวิตแบบ Next Normal จึงทำให้ธุรกิจ ต้องปรับกลยุทธ์การตลาด รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เข้ากับเทรนด์และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

เว็บไซต์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมเทรนด์การใช้ชีวิตแบบ Next Normal ให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ได้นำมาศึกษาและนำมาปรับใช้ในธุรกิจของตนเอง ดังนี้

  1. อาหาร : เน้นการกินอย่างยั่งยืนที่ทั้งดีต่อสุขภาพ และไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เน้นรูปแบบการบริโภคอาหารสไตล์ Plant Forward พร้อมเน้นส่วนผสมที่เป็นผักผลไม้ธัญพืชต่างๆ หรือเนื้อสัตว์ทางเลือก Plant Based Meat จะได้รับความนิยมขยายเป็นวงกว้าง
  2. เงิน : คนไทยจะหันมาจับจ่ายผ่านรูปแบบ e-Payment, Card Payment และ Internet & Mobile Banking กันมากขึ้น เพื่อชำระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคการซื้อสินค้า รวมถึงชำระค่าโฆษณาผ่านการทำการตลาดในช่องทางโซเชียลมีเดีย e-Commerce
  3. ที่อยู่อาศัย : Smart home ที่มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้เราสามารถใช้งานฟังก์ชั่นต่างๆ ในบ้านได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัยจะกลายเป็นเรื่องพื้นฐาน การสั่งเปิด-ปิดไฟและเครื่องปรับอากาศจะได้ทำได้ง่ายๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ (home automation)
  4. เครื่องนุ่งห่ม : นอกจากจะต้องตอบสนองด้านความสวยงามสะท้อนภาพลักษณ์ของผู้สวมใส่แล้ว แบรนด์ต่างๆ ยังให้คุณค่ากับการเลือกใช้วัสดุและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย เพราะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงมุมมองการใช้ชีวิตและทัศนคติที่ถูกส่งผ่านแฟชั่นการแต่งกาย
  5. ยานพาหนะ : ยานพาหนะทุกรูปแบบที่ใช้ในชีวิตประจำวันจะเปลี่ยนไป ทั้งรูปแบบของยานยนต์ไร้คนขับ และเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้า อย่างรถยนต์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถเมล์ไฟฟ้า ที่เคยเป็นสิ่งใหม่จะพบเห็นได้ทั่วไปในยุคหลังโควิด
  6. ยา : สำหรับทัศนคติของคนยุคหลังโควิด-19 ที่มีต่อเรื่องสุขภาพ จะมองหายาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหามากกว่าการรักษา เมื่อสุขภาพเริ่มย่ำแย่ ธุรกิจอาหารเสริมที่ช่วยทั้งเรื่องความงามและสุขภาพจึงโตขึ้นอย่างมหาศาล
  7. โซเชียลมีเดีย : เพื่อตอบสนองการใช้งานที่หลากหลาย และจะมีแนวคิดการตลาด หรือการทำมาร์เก็ตติ้ง เกิดขึ้นตามมาด้วยอีกหลายรูปแบบเพื่อดึงดูดใจผู้ใช้งาน ทั้ง Remixing user และ Generate content จากช่องทาง TikTok หรือ memetic media ด้วยการนำภาพหรือคลิปสั้นมาทำเป็นมีม (หมายถึง การเขียน การพูด ท่าทาง ภาพล้อเลียนที่มีความหมายตลก ลอกเลียนแบบเรื่องราวที่เป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย) เพื่อเรียกเสียงหัวเราะให้ผู้พบเห็น
  8. โทรศัพท์มือถือ : นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีการอัพเดตนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดเวลา โดยที่ผ่านมาผู้ผลิตสมาร์ทโฟนหลายแบรนด์ต่างหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกันกับ iPhone ที่ประกาศไม่ให้ที่ชาร์จแบตเตอรี่สำหรับลูกค้าที่ซื้อเครื่องใหม่ เพื่อเป็นการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้หลายคนจะมองว่าเป็นข้ออ้างเพื่อลดต้นทุนการผลิตของก็ตาม
  9. สินค้าอุปโภคบริโภค FMCG : เทรนด์การใช้สินค้าอุปโภคบริโภคในหมวด FMCG ที่หมายถึง Fast-moving consumer goods หรือสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่มีการซื้อขายกันอย่างรวดเร็ว และมีราคาถูกจากต้นทุนที่ต่ำ มักเป็นสินค้าที่ไม่คงทนและใช้แล้วหมดไป เช่น น้ำยาล้างจาน สบู่ กระดาษชำระ แชมพู บะหมี่สำเร็จรูป จะเปลี่ยนไป โดยผู้บริโภคจะหันไปเลือกใช้สินค้าที่ผลิตจากธรรมชาติ ปราศจากสารปรุงแต่งเป็นสูตร Natural หรือ Organic ยิ่งถ้าผลิตภัณฑ์นั้นบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์แบบย่อยสลายได้ ไม่ก่อให้เกิดขยะส่วนเกิน ก็ยิ่งจะโดนใจผู้บริโภคยุค Next Normal มากขึ้น
  10. พลังงาน : พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งแต่เดิมมีความสำคัญอยู่แล้ว จะทวีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีของพลังงานทดแทนจะมีความก้าวหน้าและมีการพัฒนาสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนของพลังงานเหล่านี้ลดลง โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์และเชื้อเพลิงขยะ