เจ้าของธุรกิจอาหาร ฟังทางนี้! 6 กฎหมาย ที่คนผลิตอาหาร ควรรู้และให้ความสำคัญ

เจ้าของธุรกิจอาหาร ฟังทางนี้! 6 กฎหมาย ที่คนผลิตอาหาร ควรรู้และให้ความสำคัญ

การเพิ่มขึ้นของประชากร การขาดแคลนถิ่นที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการขาดแคลนอาหารของประชากรโลกในอนาคต ทำให้ อุตสาหกรรมอาหาร กลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นมาตลอด

โดยเฉพาะ ประเทศไทย ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกประเทศหนึ่ง ซึ่งมีผู้ประกอบการด้านอาหารหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมามากมาย และเมื่อยิ่งมีคนเยอะ ย่อมต้องมีกฎกติกาในการอยู่ร่วมกัน จึงอาจทำให้ผู้มาใหม่ ไม่ทราบถึง กฎระเบียบมาตรฐานของอุตสาหกรรมอาหารนั้น

เว็บไซต์ ธนาคารกรุงเทพ จึงได้นำข้อกฎหมายที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหน้าใหม่ที่ควรรู้มาฝากกัน ดังนี้

  1. พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2561 : กฎหมายที่กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร กำหนดกระบวนการตรวจสอบ และรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อควบคุมและส่งเสริมสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัยแก่ประชาชน โดยครอบคลุมสินค้าเกษตรทั้งพืช สัตว์ ประมง และมีข้อกําหนดในการควบคุมกิจกรรมอื่นที่ต่อเนื่องจากการผลิตสินค้าเกษตร อาทิ การขนส่งสินค้าเกษตร คลังสินค้าเกษตร สะพานปลา โรงฆ่าสัตว์ เป็นต้น กำกับโดย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)
  2. พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2550 : เป็นกฎหมายที่กำกับดูแลสุขอนามัยพืช โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการนำเข้าและส่งออกสินค้าพืชให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากพืชที่นำเข้ามาในประเทศ รวมการส่งออกพืชไปยังตลาดต่างประเทศ โดยมีกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานกำกับดูแล
  3. พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 : กฎหมายข้อกำหนดให้มีการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อองค์การระหว่างประเทศ และเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืน โดยคำนึงถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และการรักษาความสมดุลในระบบนิเวศ และสร้างความมั่นใจในการบริโภคสัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยง ทั้งที่มีคุณภาพและสุขอนามัยที่ได้มาตรฐาน กำกับดูแลโดยกรมประมง
  4. พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 : กฎหมายที่ใช้เกี่ยวข้องกับอาหารมากที่สุด คือ เครื่องหมาย อย. ที่กำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีหน้าที่ดูแลการควบคุมคุณภาพของอาหาร คุ้มครองผู้บริโภคโดยมุ่งเน้นที่การขออนุญาต การตรวจสอบ การขึ้นทะเบียน รวมทั้งในเรื่องของการโฆษณาเกี่ยวกับอาหาร
  5. พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 : กฎหมายที่สร้างระบบการควบคุม ตรวจสอบคุณภาพในกระบวนการฆ่าสัตว์ และการขนส่งเนื้อสัตว์ รวมถึงการชำแหละและตัดแต่งเนื้อสัตว์ เพื่อการจำหน่ายให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น และเพื่อสร้างความปลอดภัยด้านอาหาร เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขอนามัย โดยมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานกำกับดูแล
  6. พ.ร.บ.คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ : และเพื่อให้มีหน่วยงานหลักที่เป็นกลไกในการกำหนดนโยบาย และกำหนดยุทธศาสตร์ด้านอาหารในมิติด้านคุณภาพ ความปลอดภัยของอาหาร ความมั่นคงอาหาร และการศึกษาด้านอาหารโดยครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน และมีประสิทธิภาพในลักษณะบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค การส่งเสริมและสนับสนุนการค้าและอุตสาหกรรมเกี่ยวกับอาหาร ทั้งภายในและตลาดต่างประเทศ