รมว.แรงงาน ปาฐกถาพิเศษ “ปลุกพลัง สร้างทางรอด SMEs” ในงานสัมมนา เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

รมว.แรงงาน ปาฐกถาพิเศษปลุกพลัง สร้างทางรอด SMEs” ในงานสัมมนา เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ปาฐกถาพิเศษปลุกพลัง สร้างทางรอด SMEs” ในงานสัมมนาออนไลน์รู้แล้วรวย ฮีโร่ SMEs กู้วิกฤต ไปต่อแบบไม่มีร่วงโดย เส้นทางเศรษฐีออนไลน์

กล่าวว่า ขอบคุณเครือมติชนที่จัดกิจกรรมมีประโยชน์และทำให้พี่น้องประชาชนมีพลังใจและมีพลังที่จะต่อสู้ในธุรกิจเอสเอ็มอี

ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นธุรกิจที่มีคุณค่าและเป็นฐานรากของประเทศไทยอย่างยิ่ง ไม่เฉพาะประเทศไทยแต่ทั่วโลกด้วยธุรกิจจะเติบโตเป็นรายใหญ่ได้ก็ต้องเติบโตจากเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพในหลายประเทศก็เติบโตจากเอสเอ็มอี

ซึ่งนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างมาก จำนวนผู้ใช้แรงงานในธุรกิจเอสเอ็มอี

ต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อที่การแก้ปัญหาของรัฐบาลในการประคับประคองและช่วยเหลือเอสเอ็มอี จะได้เป็นข้อมูลที่จับต้องได้และเสถียรที่สุด 

จำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมีราว 11 ล้านคน จำนวนนี้เป็นต่างด้าวราว 1 ล้านคน นอกนั้นเป็นคนไทย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีเอสเอ็มอี 5.6 ล้านคน

ในมาตรา 33 มี 490,000 กว่ากิจการ เป็นเอสเอ็มอี 390,000 กว่ากิจการ ดังนั้น ในการจ้างงานเท่ากับว่า 80% เป็นเอสเอ็มอี ส่วนฝั่งลูกจ้างครึ่งหนึ่งคือเอสเอ็มอี 

ธุรกิจที่มีความอ่อนไหวสุดคือเอสเอ็มอี ช่วงที่คนออกจากงานเดือนละ 100,000-200,000 คน ส่วนมากเป็นเอสเอ็มอีที่ออก เพราะความแข็งแรงทางการเงินของเขายังไม่เพียงพอที่จะรับกับพายุในปี 2563 ได้

แต่หลังจากที่นายกฯ ได้แก้ปัญหาและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด สถานการณ์ก็คลี่คลาย มีโครงการเราชนะ มีคนละครึ่ง มีการจ้างงานเอสเอ็มอีสูงขึ้น ดังนั้น นโยบายการจ้างงานเอสเอ็มอีจะสวิงตามรัฐบาล

ที่ผ่านมา นายกฯ ให้ผมหาข้อมูลว่าธุรกิจเอสเอ็มอีที่อ่อนไหวสุดคือ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ภัตตาคารต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมามีการเลิกจ้าง ปิดตัว ไม่มีเงินทุนพอจะหล่อเลี้ยง

ผมเลยเสนอโครงการเยียวยาเพื่อช่วยกันประคับประคองให้พ้นวิกฤตเพราะเราคำนึงแล้วว่าเอสเอ็มอีล้มไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะทำให้มีคนออกจากงานเป็นหลักล้านได้ 

รัฐบาลมีความจริงใจและมีความคิดช่วยเหลือเอสเอ็มอี ล่าสุดนโยบายกระทรวงแรงงาน ผมได้ทำโครงการเสนอนายกฯ ผ่าน ครม. แล้ว คือ

โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจเอสเอ็มอี ประคับประคองเอสเอ็มอีให้อยู่รอดปลอดภัยใน 3 เดือนนี้ ถ้ายังไม่ดีพอเราขยับต่อได้ โดยช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีลูกจ้างจำนวน 200 คนลงมา

โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนให้นายจ้างเพื่อรักษาการจ้างงานในอัตรา 3,000 บาท ต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คนต่อเดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564-มกราคม 2565 ซึ่งนายจ้างต้องรักษาระดับการจ้างงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ระหว่างเข้าร่วมโครงการ

พี่น้องเอสเอ็มอีเจอผมอาจบอกว่าน่าจะช่วยลูกจ้างอีก แต่ผมบอกว่าการช่วยนายจ้างก็มีผลส่งถึงลูกจ้างด้วย นี่คือนโยบายล่าสุดที่เราทำอยู่ เราคาดหวังว่าจะทำให้เอสเอ็มอีมีความแข็งแรง 

เอสเอ็มอีก็เหมือนต้นไม้เล็ก เราปลูกจากเมล็ดได้ แต่กว่าจะเติบโตต้องใช้เวลา แต่เติบโตแล้วแข็งแรง แต่ถ้าตัดตอนจากกิ่ง อาจโตเร็ว แต่สู้ความแข็งแรงของต้นไม้ที่โตจากรากไม่ได้

วันนี้เอสเอ็มอีล้มหายตายจากมีแน่นอน แต่ถ้าผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ท่านไม่ต้องกลัวอะไรแล้ว เพราะถือว่าท่านสู้กับวิกฤตของโลก ท่านจะมีความแข็งแรง เข้มแข็ง วันหนึ่งเราจะไปถึงจุดที่สำเร็จได้ 

ผมเข้ามาถึง ได้ให้อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานทำเรื่องการอบรมการขายออนไลน์ ส่วนกรมการจัดหางานก็ส่งพี่น้องแรงงานไปทำการเกษตรที่อิสราเอล

หรือผู้ที่ออกจากงานแล้วอยากหารายได้จากทางอื่น เราก็สนับสนุน วิกฤตสร้างโอกาส อย่างขายต้นไม้ออนไลน์ อันนี้ก็ขายได้ 

ผมเองได้พยายามให้นโยบายแก่ปลัดกระทรวงแรงงานให้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีทุกมิติ เช่น เงินทุน เราไม่มีแหล่งทุน แต่เราสามารถพาเขาไปหาสถาบันการเงิน สอนเขาทำบัญชี

รายได้เป็นอย่างไร หักต้นทุนอย่างไร ขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอย่างไร ตอนนี้ผมให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานไปเข้าตามวิสาหกิจชุมชน สำรวจว่าจังหวัดนั้นๆ มีวัตถุดิบอะไรเยอะสุด เช่น

สุพรรณบุรีมีข้าว ก็เอาข้าวมาแปรรูป ให้เขาเป็นวิสาหกิจชุมชนที่แข็งแรง สามารถเติบโตเป็นคอร์เปอเรทรายใหญ่ได้ นี่คือสิ่งที่เราต้องสร้าง ฝากเรียนข้าราชการไปแล้วว่าต้องใส่ใจ คนที่ลงทุนเอสเอ็มอี ถ้าเขาเป็นลูกเรา ครอบครัวเรา เราจะช่วยเขาอย่างไร

เราอยู่กระทรวงแรงงาน ไม่ใช่ว่าจะคุยกันแต่ 3-4 กรมในกระทรวง แต่เราไปคุยกับคนอื่นได้ ผมเรียนนายกฯ และท่านมีดำริตลอดว่า เอสเอ็มอีคือการจ้างงานที่สามารถเติบโต ถ้าเขาไม่แข็งแรง เขาอาจลดลงเหลือ 3 ล้านคนก็ได้ อยู่ที่เราใส่ใจ