ทางรอด กุยช่ายสะพานหัน ผุดเมนูกระตุ้นยอดขาย คืนเดียวกลายเป็นไวรัลดัง 

ทางรอด กุยช่ายสะพานหัน ผุดเมนูกระตุ้นยอดขาย คืนเดียวกลายเป็นไวรัลดัง 
ทางรอด กุยช่ายสะพานหัน ผุดเมนูกระตุ้นยอดขาย คืนเดียวกลายเป็นไวรัลดัง 

ทางรอด กุยช่ายสะพานหัน ผุดเมนูกระตุ้นยอดขาย คืนเดียวกลายเป็นไวรัลดัง 

วันที่ 30 ต.ค. 2564 คุณท็อปกิตติศักดิ์ ไกรบำรุง ทายาทรุ่นที่ 4 กิจการร้านกุยช่ายสะพานหัน กล่าวช่วงหนึ่งบนเวที “ฮีโร่ SMEs กู้วิกฤต ไปต่อแบบไม่มีร่วง” ในงานสัมมนาออนไลน์ “รู้แล้วรวย ฮีโร่  SMEs กู้วิกฤต ไปต่อแบบไม่มีร่วง” โดยเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ว่า กุยช่ายสะพานหันเปิดมานาน 50 ปี โดยตนเข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจได้ประมาณ 2 ปีกว่า

“ผมเห็นว่าร้านไม่มีลูกค้าหน้าใหม่ มีแต่ลูกค้าประจำทานกันมา 30 ปี จึงอยากปรับเปลี่ยนแบรนด์ให้ทันสมัยมากขึ้น แต่การรับช่วงต่อก็มีอุปสรรค เพราะร้านอาหารที่เปิดมานานเมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายรุ่น อาจไม่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าเก่า ซึ่งก่อนหน้านี้ผมเคยเปิดแบรนด์กุยช่ายฮ่องเต้ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์จนเจอโควิดต้องปิดตัว เสียหายหลักล้านบาท แต่ก็ทำให้มีความมั่นใจในฝีมือ และมีประสบการณ์มากขึ้น จึงกลับมาช่วยสานต่อกิจการที่บ้าน”

คุณท็อป-กิตติศักดิ์ ไกรบำรุง ทายาทรุ่นที่ 4 กิจการร้านกุยช่ายสะพานหัน (คนซ้าย)
คุณท็อป-กิตติศักดิ์ ไกรบำรุง ทายาทรุ่นที่ 4 กิจการร้านกุยช่ายสะพานหัน (คนซ้าย)

เบอร์เกอร์กุยช่าย ฟาสต์ฟู้ดแนวใหม่

ทายาทรุ่นที่ 4 เผยต่อว่า ในช่วงโควิดระลอกสอง ยอดขายหน้าร้านตกลงไปมาก จึงคิดหาไอเดีย และโปรดักต์ใหม่ เพื่อกระตุ้นยอดขาย ล่าสุดปล่อยเมนูเบอร์เกอร์กุยช่ายออกมา เพราะค้นพบว่าช่วง WFH คนชอบสั่งฟาสต์ฟู้ดทานเวลาอยู่บ้าน เลยนำกุยช่ายมาทำเบอร์เกอร์ ตอนนี้ขายมาได้ประมาณ 3 เดือนแล้ว ผลตอบรับดีเกินคาด

“ผมเคลมได้เลย เบอร์เกอร์กุยช่าย คือเจ้าแรกของโลก แน่นอนว่าเป็นสิ่งใหม่คนไม่เคยเห็นกระแสจึงมีทั้งชอบและไม่ชอบ บางคนทานแล้วบอกเลี่ยนเกินไปไม่ดั้งเดิม แต่สิ่งที่ผมได้คือ ฟรีมีเดีย เพราะสินค้าเราน่าถ่ายรูป ทำให้มีเพจรีวิว มีรายการมาติดต่อขอสัมภาษณ์จำนวนมาก จากวันแรกตั้งเป้าไว้ขายแค่สาขาตลาดพลูได้สัก 20 กล่อง แต่ปรากฏว่ากระแสดีมาก ภายในค่ำคืนเดียวสามารถขายได้ 300 กล่อง และยอดขายยังพุ่งขึ้นเรื่อยๆ” คุณท็อป เผย 

ตั้งเป้าต่อยอดแบรนด์

ทายาทกุยช่ายสะพานหัน เผยต่อว่า ในอนาคตมีการพัฒนาโปรดักต์แน่นอน ปัจจุบันกำลังทำ R&D ให้สินค้าสามารถจัดส่งได้ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันสามารถจัดส่งได้แล้ว แต่อยากทำให้ดีที่สุด นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าเปิดสาขาต่างจังหวัดภายในปี 2565 และจะเริ่มขยายแฟรนไชส์ตามหัวเมือง เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น

“ราคาแฟรนไชส์เริ่มต้น 9.9 หมื่นบาท ราคาอาจมีปรับเปลี่ยนตามโครงสร้างพื้นที่ร้าน ถ้าลูกค้าได้โลเกชั่นแล้วผมจะส่งทีมเข้าไปดูเรื่องสถานที่ ทราฟฟิกหน้าร้าน แล้วตัดสินใจกับทีมงานอีกที ตอนนี้มีแฟรนไชส์แล้ว 4 สาขา หากรวมสาขาทั้งหมดมี 15 สาขา กระจายทั่วกรุงเทพฯ”

ก่อนจาก คุณท็อป ทิ้งท้ายว่า “สถานการณ์โควิดที่ผ่านมาทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนสูงอายุเมื่อก่อนกดแอพสั่งอาหารทานไม่เป็นต้องฝากลูกหลานสั่ง ปัจจุบันนี้สั่งเป็นแล้ว และทำให้เรียนรู้ว่าลูกค้าอยู่ในทุกแพลตฟอร์ม ไม่จำเป็นต้องขายหน้าร้านอย่างเดียว มีทั้ง Cloud Kitchen ดีลิเวอรี่ หรือสตาร์ตอัพแบบป๊อกป๊อกก็น่าสน อยากฝากร้านที่ยังไม่มีตัวตนในออนไลน์ ต้องมีเพจ ทำคอนเทนต์บ่อยๆ ให้ลูกค้าเกิดการรับรู้ ถ้ายังไม่มีแพลตฟอร์มของตัวเอง อาจจะไปโพสต์ตาม กลุ่มเฟซบุ๊ก ไลน์ก็ได้”