ความดันโลหิต โรคยอดฮิต เปิด 5 เทคนิค ลดความดันอย่างยั่งยืนและปลอดภัย

ความดันโลหิต โรคยอดฮิต เปิด 5 เทคนิค ลดความดันอย่างยั่งยืนและปลอดภัย

โรคความดันโลหิตสูง ถือเป็นโรคยอดฮิต (ที่ไม่มีใครอยากเป็น) อีกทั้งเป็นภัยเงียบที่ทำให้เกิดโรคร้ายตามมามากมาย อาทิ ภาวะหัวใจวาย โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น
ความน่ากลัวของโรคนี้ เป็นโรคที่มักไม่มีอาการ และจะเป็นโรคเรื้อรังที่รุนแรงถ้าไม่สามารถควบคุมโรคได้ หลายคนจึงเชื่อว่า ต้องกินยาเพื่อควบคุมโรคได้ แต่จริงๆ แล้ว ยังมีวิธีการปฏิบัติอื่นๆ ที่สามารถลดความดันโลหิตสูงได้อย่างยั่งยืน
โดย เพจ Mahidol Channel เผย บทความแนะนำ 5 วิธีลดความดันโลหิตสูง ที่ปลอดภัย ถูกต้อง และยั่งยืน ดังนี้
1) วัดความดันโลหิตทุกวัน
หลายคนเชื่อว่าเครื่องวัดความดันที่บ้านน่าเชื่อถือน้อยกว่าความดันที่โรงพยาบาล แต่ในความเป็นจริงแล้ว การมีเครื่องวัดความดันที่บ้าน สามารถบ่งชี้ถึงภาวะแทรกซ้อนระยะยาวได้ดีกว่าการวัดความดันที่โรงพยาบาล
แต่เนื่องจากชีวิตเรามักอยู่บ้านเป็นประจำมากกว่า การวัดความดันที่อยู่ที่บ้านก็จะเป็นตัวบ่งบอกถึงความดันของคนๆ นั้นได้ดีกว่า
ข้อแนะนำสำหรับการวัดความดันที่บ้าน คือ ควรวัดความดันทุกวัน โดยวัด 2 ช่วงเวลาของวัน ได้แก่
• ช่วงตื่นนอนตอนเช้า : หลังตื่นนอนมาประมาณสัก 1 ชั่วโมง หรือบางท่านที่ได้รับการรักษาด้วยการกินยาแล้วก็ควรวัดก่อนที่จะกินยา
• ช่วงก่อนนอน : สำหรับคนที่ได้รับการรักษาด้วยการกินยาอยู่แล้วให้วัดก่อนกินยาความดันเช่นเดียวกัน
2) การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมีส่วนช่วยในการลดความดันโลหิตสูงได้ โดยจะแนะนำเป็นการออกกำลังกายให้ใจเต้นเร็ว หรือเราเรียกว่า “แอโรบิก” โดยแนะนำว่าให้ออกกำลังกายให้พอรู้สึกแค่เหนื่อยเพียงเล็กน้อย ไม่เหนื่อยมากจนเกินไป เช่น การเดินเร็วๆ หรือการวิ่งจ๊อกกิ้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายของแต่ละคนด้วยโดยแนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที
ข้อควรระวัง
คนที่เป็นความดันโลหิตสูง ควรจะควบคุมความดันให้ได้ในระดับหนึ่งก่อนที่จะออกกำลังกาย หากมีเครื่องวัดความดันที่บ้านอยู่แล้ว แนะนำว่า ถ้าความดันโลหิตสูงเกินกว่า 180/100 มิลลิเมตรปรอท ควรจะหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ นอกจากนี้ คนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือมีค่าดัชนีมวลกายเกิน 23 ควรเลือกออกกำลังกาย และควบคุมน้ำหนักด้วยวิธีอื่นๆ เพื่อให้น้ำหนักกลับมาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
3) ลดอาหารเค็ม เกลือ โซเดียม อาหารแปรรูป
การกินเค็มทำให้ความดันโลหิตเพิ่มมากขึ้นได้ โดยเฉพาะยิ่งถ้าเป็นคนที่ความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว จะยิ่งทำให้ความดันนั้นไม่สามารถควบคุมได้ การลดเค็มนั้นก็คือการลดเกลือโซเดียมให้ต่ำกว่า 2 กรัมต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับเกลือแกงที่เราทำอาหารกัน 1 ช้อนต่อวัน หรือถ้าเกิดเทียบกันเป็นซีอิ๊ว ซอสปรุงรส น้ำปลา ก็จะตกประมาณ 4 ช้อนต่อวัน
นอกเหนือจากเกลือหรือซอสปรุงรสต่างๆ แล้ว เกลือโซเดียมก็ยังแฝงอยู่ในอาหารรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารแช่แข็ง ของหมัก ของดอง ที่มีการใช้เกลือในการถนอมอาหารทั้งสิ้น เมื่อเราลดอาหารเค็มได้แล้ว แนะนำให้กินผักผลไม้ชนิดใดก็ได้ในปริมาณ 20-30 กรัมต่อวัน ซึ่งจะสามารถช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ ข้อควรระวังสำหรับคนที่มีโรคไต คือควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะรับประทานผักผลไม้
4) เลิกบุหรี่ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มีส่วนทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ รวมถึงการสูบบุหรี่ที่นอกจากจะสัมพันธ์กับความดันโลหิตสูงแล้ว ยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้ ดังนั้น หากเลิกทั้ง 2 อย่างได้แบบเด็ดขาดก็จะเป็นผลดี
สำหรับบางคนที่ไม่สามารถเลิกเหล้าและบุหรี่ได้ทันที ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ เนื่องจากในปัจจุบันนี้ เรามีทั้งการทำกิจกรรมบำบัดและยาที่ทดแทนสารต่างๆ ที่ช่วยลดอาการระหว่างการเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ได้
5) กินยาตามแพทย์สั่ง พบแพทย์ตามนัด
นอกเหนือจากการปฏิบัติตัวอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วใน 4 ข้อข้างต้น การกินยาอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้ รวมถึงการพบแพทย์ตามนัดก็จะเป็นการประเมินผลของการรักษาต่างๆ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการลดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว และลดปัญหาสุขภาพในอนาคตได้