เร่งผลิตต้นกล้าฟ้าทะลายโจร 15,000 ต้น แจกจ่ายประชาชน ทางเลือกสู้โรคระบาด

เร่งผลิตต้นกล้าฟ้าทะลายโจร 15,000 ต้น แจกจ่ายประชาชน ทางเลือกสู้โรคระบาด

รศ.ดร.บัญญัติ เศรษฐฐิติ คณบดีคณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ไม่มียาที่จะตอบได้ว่ารักษาหรือป้องกันโรคได้จริง แต่จากเอกสารการวิจัยทำให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นำฟ้าทะลายโจรไปรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รายที่มีอาการน้อยและไม่มีอาการ ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งพบว่าผู้ที่มีอาการน้อยหลังจากได้รับยาฟ้าทะลายโจรมีอาการดีขึ้นทุกราย โดยไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด ส่วนในรายที่ไม่มีอาการ ก็ไม่พบว่ามีอาการภายหลัง และปลอดภัยดี

สารสกัดฟ้าทะลายโจรและสารแอนโดรกราโฟไลด์ ซึ่งเป็นสารสำคัญในฟ้าทะลายโจรมีความสามารถในการยับยั้งกระบวนการติดเชื้อไวรัสของเซลล์ปอด โดยผ่านกลไกที่สำคัญ คือ การยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในทุกระยะ จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาการใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นยาเดี่ยว หรือใช้ควบรวมกับสูตรยามาตรฐานในการรักษาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ประจวบกับมหาวิทยาลัยรังสิต มีการผลิตแคปซูลฟ้าทะลายโจรอยู่แล้ว แต่มีปัจจัยการผลิตไม่เพียงพอ จึงต้องหาแหล่งพันธุ์มาให้คนในชุมชนช่วยปลูกและส่งผลผลิตให้กับทางมหาวิทยาลัย เพื่อผลิตแคปซูลฟ้าทะลายโจร

ต้นกล้าฟ้าทะลายโจร

“ปัจจุบัน เรายังไม่มีต้นพันธุ์สำหรับการแจกให้กับประชาชนได้ใช้ประโยชน์ รวมถึงฟ้าทะลายโจรมีการเจริญเติบโตที่ต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน ดังนั้น คณะนวัตกรรมเกษตร ภายใต้สังกัดวิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้มีการจัดทำโครงการฯ ผลิตต้นฟ้าทะลายโจร สำหรับการส่งเพื่อนำไปผลิตแคปซูล และผลิตต้นกล้าฟ้าทะลายโจร เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไปรอบมหาวิทยาลัยรังสิต โดยได้มีการปรับปรุงพื้นที่ประมาณ 1,500 ตารางเมตร ทำการปลูกลงถุงเพาะปลูกและกระถางจำนวนมากกว่า 15,000 ต้น” รศ.ดร.บัญญัติ กล่าว

และว่า ผลผลิตฟ้าทะลายโจรทั้งหมด ซึ่งประกอบไปด้วย ใบ กิ่ง ก้าน และลำต้นที่ได้มีการผลิตขึ้น จะนำส่งให้กับวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อวิเคราะห์ปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ และนำไปผลิตเป็นแคปซูลฟ้าทะลายโจร นอกจากนั้นโครงการฯ นี้ ยังมีการศึกษาและวิจัยถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ของต้นฟ้าทะลายโจร พร้อมทั้งมีการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่นักศึกษาและผู้คนที่สนใจการเพาะปลูกฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นการบริการทางวิชาการให้แก่สังคมต่อไป