เยี่ยมค่าย “ยุวชนตำรวจ สพฐ.” “ทำดีเพื่อพ่อ” ปั้นนักเรียนน้ำดี ชูโรงเรียน-ชุมชนเข้มแข็ง

ปัญหาทะเลาะวิวาท ยาเสพติดและอบายมุขหลากรูปแบบที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกสถานศึกษาล้วนเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนและพัฒนาการของเด็กและเยาวชนที่กำลังจะเติบโตเป็นกำลังของครอบครัว สังคมและประเทศชาติในอนาคต

กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้อนุมัติให้ “ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน”(ฉก.ชน.สพฐ.)ร่วมกับ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” จัดทำ “โครงการอบรมยุวชนตำรวจ สพฐ.”ขึ้นเพื่อพัฒนาและปลูกฝังให้นักเรียนและเยาวชนในวัยเรียนมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์  รู้คุณค่าของตนเอง มีคุณธรรมจริยธรรม รู้รักสามัคคี มีจิตสาธารณะ ป้องกันปัญหาความรุนแรงจากเหตุทะเลาะวิวาท ยาเสพติดในสถานศึกษาและชุมชน เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน ความสงบสุขของชุมชน ตลอดจนสังคมโดยรวม

โดยคัดเลือกนักเรียน ครูที่ปรึกษา และตำรวจในพื้นที่เป็นตัวแทนเข้าร่วมฝึกอบรมและทำกิจกรรมร่วมกัน มีกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี และกองบัญชาการตำรวจนครบาลจัดวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดความรู้และฝึกทักษะผู้นำผ่านกิจกรรมฐานต่างๆ ซึ่งการอบรมใน 6 รุ่นที่ผ่านมา สามารถสร้างยุวชนตำรวจ สพฐ.ออกไปปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือตำรวจในการสอดส่องดูแลสถานศึกษาและชุมชนของตนเอง  ทำให้ปัญหาทะเลาะวิวาทของนักเรียน ปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาและชุมชนลดลง ช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้และอยู่อาศัยในโรงเรียนและชุมชนอย่างมีความสุขและปลอดภัย1

จากความสำเร็จดังกล่าว นำมาสู่โครงการอบรมยุวชนตำรวจ สพฐ. รุ่นที่ 7 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ เดอะไพน์รีสอร์ท อ.สามโคก จ.ปทุมธานี  โดย “ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ” ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน  นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก“พลตำรวจตรีอาชวันต์ โชติกเสถียร”  รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ในฐานะตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวให้โอวาท  พร้อมด้ยพันตำรวจเอกอรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 และผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ข้าราชการตำรวจร่วมเป็นเกียรติและเป็นกำลังใจแก่น้องๆที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่างอบอุ่น

ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ ผู้อำนวยการ ฉก.ชน.สพฐ. กล่าวว่า โครงการอบรมยุวชน สพฐ.จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอดส่องป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงจากการทะเลาะวิวาทของนักเรียนปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาและชุมชน เป็นการทำงานร่วมกันของสถานศึกษาและตำรวจในพื้นที่เพื่อเสริมสร้างปลูกฝังให้นักเรียนเห็นคุณค่าของตนเอง รู้จักการเสียสละ มีความสามัคคีและจิตสาธารณะ พร้อมนำความรู้จากการอบรมไปใช้ในโรงเรียน ครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ทำความดีตามแนวพระราชดำริ”เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ โดยมีโรงเรียนในเขตพื้นที่ภาคกลาง (ปทุมธานี สมุทรปราการ) ภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง) และภาคใต้ (นครศรีธรรมราช) รวม 20 โรง  มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมโรงเรียนละ 8 คน พร้อมครูพี่เลี้ยง และตำรวจในพื้นที่แห่งละ 1 คน  รวม 200 คน4

ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ช่วยเลขาธิการ สพฐ. กล่าวว่า การอบรมยุวชนตำรวจ สพฐ.เป็นความสำเร็จอีกก้าวของกระทรวงศึกษาธิการ และสพฐ.ในการส่งเสริมความรู้นักเรียน ดูแลช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียนทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนโดยการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษาและตำรวจในพื้นที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถแก้ไขปัญหาในโรงเรียน ลดความขัดแย้งและพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน เช่น การทะเลาะวิวาท ปัญหายาเสพติดในโรงเรียนและชุมชน การมีระเบียบวินัย มีจิตอาสา ส่วนครูเองก็สามารถให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียนโดยทำงานร่วมกับตำรวจในพื้นที่และชุมชนได้เป็นอย่างดี และยังเป็นกิจกรรมที่ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ของนักเรียนในทุกชั้น ทุกระดับเพื่อให้นักเรียนทุกคนได้ทั้งทักษะความรู้และทักษะชีวิต เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เป็นพลังของสังคมและประเทศชาติในอนาคต

พลตำรวจเอกอาชวันต์ โชติกเสถียรรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เล็งเห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชน ที่จะเติบโตไปเป็นกำลังของชาติที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดทั้งการให้ความรู้และให้คำแนะนำในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะวิวาท ยาเสพติด เพื่อสร้างเยาวชนที่มีศักยภาพ เป็นพลังร่วมกับตำรวจในการช่วยเหลือ ป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่สถานศึกษาและชุมชน เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน ชุมชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีความรู้ความสามารถมาให้ความรู้กับนักเรียน ครูในพื้นที่ ไม่เฉพาะแต่เรื่องอาชญากรรมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการดูแลความสงบเรียบร้อย การให้ข่าวหรือแจ้งเบาะแสกับตำรวจด้วย

ถามว่าโครงการนี้ได้ประโยชน์ ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กๆ คุณครู พี่ๆตำรวจที่เข้าร่วมกิจกรรมมากน้อยเพียงใด มาฟังการบอกเล่าของพวกเขากัน6

อาทิตย์ ภิญโญวรกุล ร.ร.บ้านบึง”อุตสาหกรรมนุเคราะห์” บอกว่า “ปัญหาที่พบในโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องการทะเลาะวิวาท  ปัญหาเด็กแว๊น ทำให้มีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ซึ่งทางโรงเรียนจะให้กลุ่มนักเรียนที่เคยมีปัญหามาเป็นสายสืบคอยแจ้งข้อมูล เบาะแสกับทางโรงเรียน  มีการจัดกิจกรรม เช่น กิจกรรมพบผู้ปกครอง เดินรณรงค์ด้านยาเสพติด ในฐานะที่ผมได้เป็นตัวแทนโรงเรียนมาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ตั้งใจว่าจะนำสิ่งที่อบรมกลับไปถ่ายทอดให้กับเพื่อนๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาโรงเรียนและชุมชนของเราให้เข้มแข็ง ตัวผมเองก็จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเพื่อนๆเยาวชนด้วย”

ส่วน ณัฏฐานันต์ นวลจันทร์ จาก ร.ร.ก้างปลาวิทยาคม นครศรีธรรมราชบอกว่า “ปัญหาที่พบบ่อยในโรงเรียนก็คือการทะเลาะวิวาทและก็ยาเสพติด ทางโรงเรียนจะเชิญผู้ปกครองมารับทราบ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน และก็มีการป้องกันโดยร่วมกับสถานีตำรวจในพื้นที่จัดกิจกรรม อบรมเกี่ยวกับพิษภัยของยาเสพติด ระเบียบวินัย ปลูกฝังเรื่องจิตอาสา สิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างแรกเลยคือ ความแข็งแรงของร่างกาย ความสามัคคี ได้รู้จักเพื่อนต่างโรงเรียน ได้ทั้งความรู้และประสบการณ์นอกห้องเรียนมากมายที่จะไปบอกเล่าเพื่อนๆที่โรงเรียน อยากเห็นเพื่อนๆรักกัน ไม่ทะเลาะกัน ตั้งใจเรียน เพื่ออนาคตของเราเอง ”

ด้าน ณัชชา ดาวเล็ก ร.ร. คณะราษฎร์บำรุงปทุมธานี เล่าว่า “ปัญหาในโรงเรียนส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นเรื่องการทะเลาะวิวาท แต่ถ้าเป็นชุมชนก็จะเป็นเรื่องยาเสพติด การได้เข้ามาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทำให้รู้ถึงพิษภัยของยาเสพติด และวิธีป้องกัน และการเป็นยุวชนตำรวจ ทำให้เรามีความมุ่งมั่นที่จะเป็นจิตอาสาเพื่อโรงเรียนและชุมชน ช่วยตำรวจสอดส่องดูแลและป้องกันเหตุรุนแรงและยาเสพติด เพื่อให้โรงเรียน ชุมชนของเราปลอดภัย อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”

5

ตัทธิตา ติ่งต่ำ หัวหน้างานระบบการดูแลนักเรียน ร.ร.ก้างปลาวิทยาคม นครศรีธรรมราช เผยว่า “ร.ร.ก้างปลาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท ทีทั้งเด็กที่มีฐานะลำบากมากๆ กับเด็กที่ฐานะค่อนข้างดี เพราะฉะนั้นความเสี่ยงก็จะแตกต่างกัน  การดูแลช่วยเหลือนักเรียนจะเน้นให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล กรณี่ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ก็จะส่งต่อไปฝ่ายกิจการนักเรียนซึ่งจะมีกิจกรรมส่งเสริมนักเรียน เช่น  คนดีศรีก้างปลา กิจกรรมจิตอาสาในโอกาสต่างๆ ยุวชนตำรวจ สพฐ.เป็นโครงการที่ดีมาก ความรู้และกิจกรรมต่างๆสามารถนำไปใช้ประโยชน์และแก้ปัญหาในโรงเรียนและชุมชนได้จริงๆ ”

ร.ต.ท.ไพรัช ขันธวิธี รองสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรสวนพริกไทย จ.ปทุมธานี บอกว่า

“จริงๆแล้วโรงเรียนมัธยมในพื้นที่ที่ผมดูแลมีปัญหาน้อยมาก ที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่เป็นเด็กในชุมชนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ครอบครัวแตกแยกก็จะสร้างปัญหาสังคมขึ้นมา ทาง สน.ก็จะใช้วิธีไปเยี่ยมเยียนครอบครัว ให้เขารับรู้ปัญหาและร่วมกันแก้ไขหรือหาทางออกให้เขา อย่างกรณีทะเลาะวิวาทถ้าไม่ร้ายแรงมากก็จะใช้วิธีไกล่เกลี่ย ซึ่งผมคิดว่าการป้องกันดีกว่าการปราบปราม”

ปัญหาเด็กและเยาวชน ไม่ใช่ปัญหาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของทุกคนในสังคม ตั้งแต่พ่อแม่ ครอบครัว สถานศึกษา ชุมชนและทุกภาคส่วนในสังคม “โครงการยุวชนตำรวจ สพฐ.” นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง เป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต