ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
มิสเตอร์เคดี นักพัฒนาสายพันธุ์คนดัง รับเชิญบรรยายพิเศษ วิชา กัญชาศาสตร์
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต เชิญอาจารย์พิเศษ Mr.KD ลุงดำ เกาะเต่า หรือ คุณอร่าม ลิ้มสกุล นักปลูก ค้นคว้า และพัฒนาสายพันธุ์กัญชาที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มาบรรยายออนไลน์ ให้แก่นักศึกษาที่ลงเรียนรายวิชากัญชาศาสตร์
รศ.ดร.บัญญัติ เศรษฐฐิติ คณบดีคณะนวัตกรรมเกษตร ผู้จัดการรายวิชากัญชาศาสตร์ เผยว่า ทางคณะฯ ได้เชิญลุงดำ มาสอนหัวข้อ ประวัติศาสตร์และการปรับปรุงพันธุ์กัญชา โดยประวัติศาสตร์ของกัญชานั้นเริ่มต้นมาจากทวีปเอเชีย มีประเทศจีน เป็นผู้เริ่มต้นใช้กัญชาทางการแพทย์แผนจีน จากนั้นเข้าสู่อินเดีย และไปสู่ทวีปยุโรป ซึ่งในประเทศไทยได้มีการยกเลิกและห้ามใช้กัญชาและให้กัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 ต่อมาประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ทางการแพทย์ จึงได้มีการปลดล็อกกัญชาโดยสามารถปลูกเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาสายพันธ์ุ รวมทั้งผลิตผลิตภัณฑ์ยาที่ได้มาจากกัญชาได้จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ลุงดำ ยังได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในการปรับปรุงพันธุ์กัญชา สายพันธุ์ KD ที่ได้รับความนิยมปลูกกันมากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และบอกด้วยว่า กัญชา ยังต้องได้รับการพัฒนาทั้งระบบวิธีการปลูกและการปรับปรุงสายพันธุ์ ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์กัญชา ต้องทราบก่อนว่ากัญชานั้น เป็นพืชผสมข้ามกลุ่ม ที่มีการแยกเพศผู้กับเพศเมียกันคนละต้น (dioecious plant) จึงต้องทำการผสมข้ามสายพันธุ์และรอให้ติดเมล็ด หลังจากนั้นเก็บเมล็ด ทำการปลูกรุ่นถัดไปเพื่อทำการคัดเลือกตามลักษณะที่ต้องการ โดยดูจากลักษณะต้น และคุณภาพของดอกกัญชา และทำการเลือกลักษณะตามที่ต้องการปลูกต่ออีก 5-7 รุ่น หรือจนกว่าสายพันธุ์จะนิ่ง
ทั้งนี้ รายวิชากัญชาศาสตร์ เป็น 1 ใน 4 รายวิชาที่นักศึกษาจะได้เรียนในวิชาเลือก กลุ่มเทคโนโลยีการผลิตพืช และการจัดการผลิตผลเกษตร ซึ่งประกอบด้วยรายวิชาอื่นๆ เช่น วิชาเทคโนโลยีการผลิตกัญชาทางการแพทย์ วิชาเทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ และวิชาการปฏิบัติการปรับปรุงพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งไม่เฉพาะกับกัญชาเท่านั้น ยังครอบคลุมทั้งพืชสมุนไพรและเกษตรกรรมสมัยใหม่อีกด้วย

ซึ่งวิชาเหล่านี้อยู่ในหลักสูตรปริญญาเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมเกษตร นักศึกษาที่เรียนจบหลักสูตรนี้สามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ทำงานในฟาร์มทั้งในประเทศและต่างประเทศ แนวโน้มของตลาดแรงงานในอนาคต บุคลากรด้านนี้ยังขาดแคลนและกำลังเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก