สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ชี้ China Evergrande กระทบไทย 3 ด้าน แน่นอน

สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ชี้ China Evergrande กระทบไทย 3 ด้าน แน่นอน

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวถึงกรณี บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่อันดับ 2 ของจีน ที่ชื่อ China Evergrande กำลังเผชิญปัญหาวิกฤตสภาพคล่องและเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้ บริษัท Evergrande มีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้งวดแรกมูลค่า 83.5 ล้านดอลลาร์ ในวันที่ 23 ก.ย. และงวดที่สองมูลค่า 47.5 ล้านดอลลาร์ ในวันที่ 29 ก.ย.นี้

ซึ่งหากไม่สามารถชำระดอกเบี้ยได้ในวันดังกล่าวภายในระยะเวลา 30 วันหลังครบกำหนด บริษัทน่าจะเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นกู้ ผู้ถือหุ้น ธนาคารเจ้าหนี้ รวมถึงลูกค้าที่ซื้อห้องชุดที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จได้รับผลกระทบ และอาจขยายวงกว้างไปสู่ความไม่แน่นอนทางการเงินในบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายอื่น ซึ่งอาจลงเอยด้วยวิกฤตการเงินคล้ายๆ กับที่ประเทศอื่นเคยเผชิญในอดีต

“จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในจีนหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่า วิกฤต Evergrande จะลามไปสู่ภาคส่วนอื่นหรือไม่ เช่น กรณีวิกฤตต้มยำกุ้งของไทยหรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐ ซึ่งปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์นำไปสู่ปัญหาสถาบันการเงิน สภาพคล่องในระบบหาย ธนาคารพาณิชย์กังวลในการปล่อยสินเชื่อเพราะห่วงหนี้สูญ บริษัทต่างๆ จึงขาดสภาพคล่องและล้มลงไปในที่สุด” ดร.อมรเทพ กล่าว

และว่า นักลงทุนอาจกังวลใครจะเป็นรายต่อไปที่จะล้ม หาก Evergrande เป็นบริษัทเดียวที่มีปัญหาสภาพคล่อง และภาครัฐของจีนสามารถควบคุมไม่ให้ปัญหานี้ลามไปสู่บริษัทอื่นหรือภาคส่วนอื่นได้ ปัญหานี้ก็น่าจะสามารถควบคุมดูแลความเสียหายได้ในวงจำกัด แต่ที่ต้องติดตามต่อไป คือ บริษัทนี้ใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้มหรือไม่ (Too big to fail)

ดร.อมรเทพ กล่าวอีกว่า แม้จีนจะแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่ เศรษฐกิจจีนเสี่ยงชะลอตัวลงในระยะสั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในอดีตเมื่อมีการควบคุมภาวะฟองสบู่ในจีน ราคาบ้านที่ลดลงจะกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้บริโภค นอกจากตลาดหุ้นของจีนที่มีการพักฐานอย่างที่เห็นในวันนี้แล้ว การบริโภคของคนจีนเสี่ยงชะลอในช่วงปลายปีนี้ ตัวเลขที่ให้ติดตาม คือ การค้าปลีกและการใช้กระแสไฟฟ้า ซึ่งสะท้อนกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจได้ดี

ในกรณีที่มีการควบคุมที่มากขึ้นจนกระทบกระแสเงินสดภาคธุรกิจ การส่งออกและการนำเข้าของจีนก็เสี่ยงโตช้าลง ทั้งนี้ ผลกระทบต่อไทยมีอยู่ 3 ด้าน ด้านแรก คือ เงินทุนไหลออกจากตลาดทุนไทย เพราะนักลงทุนต่างชาติ น่าจะมีความกังวลต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค กองทุนรวมเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นอาจถูกปรับลดน้ำหนักการลงทุนลง ค่าเงินในภูมิภาคเสี่ยงอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ

ด้านที่สอง คือ การส่งออก ที่อาจจะชะลอลงได้ตามการส่งออกไปจีน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร ยางพารา และอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับการส่งออกของไทยไปอาเซียนที่อาจจะชะลอตามได้ เนื่องจากเศรษฐกิจอาเซียน น่าจะได้รับผลกระทบการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเช่นกัน และน่าจะนำเข้าสินค้าจากไทยเพื่อประกอบและส่งออกไปจีนลดลง นอกจากนี้ จีนยังเป็นผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ อุปสงค์ที่ลดลงอาจฉุดราคาน้ำมัน เหล็ก ถ่านหิน และอื่นๆ ซึ่งจะกระทบมูลค่าการส่งออกของไทยด้วย

ด้านที่สาม คือ การท่องเที่ยว แม้วันนี้ยังไม่ได้มีนักท่องเที่ยวจีนหรือประเทศอื่นเข้ามาเดินทางในประเทศไทยมากนัก แต่หากเศรษฐกิจจีนชะลอต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ความหวังที่จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยอาจไม่ได้มากเท่ากับที่เราคาดการณ์กันไว้

“ในส่วนนักลงทุนกองทุนรวมหุ้นจีน ประเมินว่ากองทุนจีนมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงในระยะยาว โดยเฉพาะหากนักลงทุนกับจังหวะเข้าไปลงทุนหลังจีนมีสัญญาณชนะปัญหา Evergrande รอบนี้ได้ แต่หากวิกฤตรอบนี้ ลามไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ผมก็มองว่าการอัดฉีดสภาพคล่องที่มากและรวดเร็วน่าจะทำให้การฟื้นตัวเกิดขึ้นได้ไว และวิกฤตจีนหากเกิดขึ้นจริง จะไม่ลามไปสู่วิกฤตการเงินโลก ไม่กระทบสหรัฐซึ่งเป็นตลาดสินค้าใหญ่ การส่งออกของประเทศจีนน่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ เศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบก็น่าจะปรับตัวได้เร็วตามการส่งออกเช่นกัน” ดร.อมรเทพ วิเคราะห์