เผยแพร่ |
---|
หน่วยบริหารและจัดการทุนและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จับมือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กวาดล้างความจนชายแดนใต้
วันที่ 20 ก.ย. 2564 นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า บพท. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อร่วมมือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในการแก้ไขปัญหาความยากจนและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
โดยที่ บพท. จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนองค์ความรู้จากงานศึกษาวิจัยทางวิชาการ และประสบการณ์ที่ดำเนินการผ่านกลไกมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่อย่างได้ผลมาแล้วในพื้นที่ 10 จังหวัดเมื่อปี 2563 และอยู่ระหว่างการดำเนินงานเพิ่มเติมอีกในพื้นที่ 10 จังหวัดในปี 2564 นี้
ขณะที่ ศอ.บต. ในฐานะผู้รับผิดชอบงานพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการประสานการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาความยากจนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่
“ความร่วมมือนี้ต้องนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะจังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ซึ่งมีปัญหาความยากจนเรื้อรัง ยิ่งเมื่อได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประชาชนก็ยิ่งยากลำบาก เราจึงมุ่งหวังที่จะทำงานนี้อย่างจริงจังในรูปแบบใหม่ที่มีการนำงานวิชาการเข้ามาใช้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาบรรลุความสำเร็จและมีความยั่งยืน”
นายกิตติ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ชุดความรู้สำหรับแก้ปัญหาความยากจน ที่ บพท. จะร่วมมือกับ ศอ.บต. ในการนำไปใช้แก้ปัญหาความยากจนในจังหวัดชายแดนใต้ เป็นชุดความรู้ที่ผ่านการพิสูจน์ผลสัมฤทธิ์มาแล้วในพื้นที่ 10 จังหวัดเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ได้แก่ จังหวัดปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร และกาฬสินธุ์
ซึ่งนำมาขยายขอบเขตพื้นที่เพิ่มเติมอีก 10 จังหวัดในปีนี้ ได้แก่ บุรีรัมย์ นราธิวาส อุบลราชธานี ลำปาง พัทลุง นครราชสีมา ร้อยเอ็ด พิษณุโลก เลย และยะลา ครอบคลุมกลุ่มคนยากจนกว่า 400,000 คน โดยมีมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนงานในแต่ละจังหวัด
นายกิตติ กล่าวด้วยว่า ปัจจัยสนับสนุนความสำเร็จของการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน เกิดจากพลังของการบูรณาการความร่วมมือกันของหลายส่วนราชการ ทั้งกรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ การเคหะแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ผู้อำนวยการ บพท. อธิบายแนวทางการดำเนินงานของ บพท. เพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากจะบูรณาการความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ทุ่มเทศึกษาค้นคว้าวิจัยพัฒนาชุดความรู้และนวัตกรรมในการแก้ปัญหาความยากจน ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำตามบริบทของภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่แล้ว ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองที่มีความสมดุลระหว่างสังคม-เศรษฐกิจ-คุณภาพสิ่งแวดล้อม
“ทุกวันนี้ ขอบเขตงานของ บพท. ครอบคลุมไปใน 62 จังหวัด ผ่านโครงการศึกษาวิจัยและนวัตกรรมที่ทำร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งมีความหลากหลาย ทั้งโครงการพัฒนาชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงการพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่น หรือโครงการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาชุมชน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้ผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างความอยู่ดีกินดีแก่ประชาชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติมั่งคั่งและมั่นคง บรรลุตามเจตนารมณ์ของแผนยุทธศาสตร์ชาติในที่สุด”