ฟรีแลนซ์ อาชีพที่คนรุ่นใหม่ฝันหา จัดการบัญชีอย่างไร ให้ได้สินเชื่อ 

ฟรีแลนซ์ อาชีพที่คนรุ่นใหม่ฝันหา จัดการบัญชีอย่างไร ให้ได้สินเชื่อ 
ฟรีแลนซ์ อาชีพที่คนรุ่นใหม่ฝันหา จัดการบัญชีอย่างไร ให้ได้สินเชื่อ 

ฟรีแลนซ์ อาชีพที่คนรุ่นใหม่ฝันหา จัดการบัญชีอย่างไร ให้ได้สินเชื่อ 

ฟรีแลนซ์ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นอาชีพที่คนรุ่นใหม่ฝันหา โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 มีจำนวนผู้มีงานทำที่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ สูงถึงเกือบ 12.8 ล้านคน เร่งตัวขึ้นจากเดิมก่อนช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ประกอบอาชีพอิสระประมาณ 11.5 ล้านคน

แม้การเป็นฟรีแลนซ์จะมีข้อดีหลายประการ แต่ข้อจำกัดของฟรีแลนซ์ที่เสียเปรียบพนักงานประจำอย่างหนึ่งก็คือ “การขอสินเชื่อ” เนื่องจากอัตราการกู้ธนาคารผ่านได้ยากกว่าเมื่อเทียบกับพนักงานประจำ จากจุดอ่อนในด้านความสม่ำเสมอของรายได้ที่ฟรีแลนซ์น่าจะด้อยกว่ามนุษย์เงินเดือน

แต่อย่าเพิ่งถอดใจกับปัญหานี้ ยังมีตัวช่วยชดเชยข้อเสียเปรียบนี้ด้วยประวัติทางการเงินที่ดี ซึ่งทำให้มีหลายกรณีที่ฟรีแลนซ์มีโอกาสได้รับการพิจารณาสินเชื่อเช่นกัน

ธนาคารหรือสถาบันการเงินผู้ให้กู้ยืมบางแห่ง มีการปรับเปลี่ยนวิธี/มุมมองที่ใช้ในการประเมินข้อมูลเครดิตตามสถานภาพของลูกค้า โดยจากเดิมที่ธนาคารพิจารณาสินเชื่อจาก “รายได้” ของลูกค้าเป็นหลัก ก็ขยับมาดูเรื่อง “ความสามารถในการชำระคืน” ทั้งด้วยการพิจารณาแหล่งที่มารายได้อื่น ตลอดจนข้อมูลทางเลือกเชิงพฤติกรรม เพื่อประเมินถึงวินัยและศักยภาพในการชำระหนี้

ดังนั้น จึงนับเป็นโอกาสของผู้ที่เป็นฟรีแลนซ์ที่จะสามารถเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ดีขึ้น แต่ต้องบริหารจัดการบัญชีเพื่อเป็นหลักฐานให้เจ้าหนี้ประเมินถึงความมีวินัยและสถานภาพทางการเงินที่ดีของตนเองได้ ดังนี้

1. นำรายได้จากผู้จ้างทุกรายเข้าบัญชีเดียวกันตลอด ไม่ว่าจะเป็นกรณีรับโอนเงินค่าจ้าง และ/หรือกรณีที่รับเงินค่าจ้างเป็นเงินสดก็ให้นำเข้าบัญชีด้วย เพื่อให้ได้การเดินบัญชีที่สวยงามเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6-12 เดือน เพราะถ้ารายได้เข้าหลายบัญชี ก็อาจทำให้การประเมิน/พิสูจน์รายได้มีความยาก (การนำเงินก้อนใส่เข้าบัญชีครั้งเดียว อาจถูกประเมินว่า เป็นเงินที่หยิบยืมมา ดังนั้น ความสม่ำเสมอของการเดินบัญชีจึงมีความสำคัญมากกว่า) ซึ่งข้อมูลการเดินบัญชีนี้สามารถนำมาเป็นหลักฐานแสดงรายได้ประกอบการขอสินเชื่อธนาคารได้

2. เตรียมเอกสารประกอบแสดงการจ้างงาน อาทิเช่น เอกสาร 50 ทวิ ย้อนหลังเท่าที่มี (เพื่อเป็นหลักฐานว่าเราประกอบอาชีพที่มีรายได้แม้ไม่มีสลิปเงินเดือนเหมือนพนักงานประจำก็ตาม) ใบเสร็จรับเงินหรือสัญญาจ้างในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้เห็นประวัติการรับงานในอดีตและแนวโน้มรายได้ที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

3. ในกรณีที่มีการใช้บัตรเครดิต หรือสินเชื่ออื่นที่มีการผ่อนชำระอยู่ก่อนแล้ว ควรมีการใช้จ่ายและชำระคืนบัตรเครดิตอย่างสม่ำเสมอ ไม่พอกพูนหนี้ และต้องชำระคืน/ผ่อนให้ตรงตามกำหนด เพื่อสร้างฐานข้อมูลการเป็นหนี้และมีประวัติการชำระหนี้ที่ดี ซึ่งจะช่วยให้มีคะแนนเครดิตสูงขึ้น และส่งผลให้ได้รับวงเงินกู้ก้อนอื่นๆ เพิ่มขึ้นได้ ขณะที่ในระยะหลัง ธนาคารก็ใช้หลักการประเมินความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ โดยอิงจากสถิติการเดินบัญชีเพื่อปล่อยสินเชื่อประเภทดังกล่าวให้กับกลุ่มฟรีแลนซ์มากขึ้น

ปัจจุบัน ส่วนใหญ่สินเชื่อในระบบสำหรับฟรีแลนซ์ มักให้บริการภายใต้เงื่อนไขสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ในลักษณะวงเงินก้อนที่มีการผ่อนชำระเป็นรายงวดเฉลี่ย 10,000-100,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนเฉลี่ย 1-4 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 20-33% ต่อปี

โดยมีผู้ให้บริการทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์ น็อนแบงก์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพียงแต่จำเป็นต้องยื่นสินเชื่อให้ตรงตามเงื่อนไขที่เปิดสำหรับฟรีแลนซ์โดยเฉพาะ เช่น ต้องดำเนินการสมัครขอสินเชื่อและรับเงินผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคาร หรือต้องเป็นสมาชิกบนดิจิทัลแพลต​ฟอร์มที่เป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจบางแห่งยังออกสินเชื่อฟรีแลนซ์ตามนโยบายของภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจบางประเภทเป็นการเฉพาะ เช่น ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนที่ต่ำกว่า 10% ต่อปี นอกจากนี้ ยังมีโครงการสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กๆ แต่อาจมีเงื่อนไขเพิ่มเติมด้านหลักประกัน เช่น ใช้บุคคล/บสย. ค้ำประกัน ที่ดิน และหลักประกันทางธุรกิจตามเกณฑ์ที่กำหนด

ฟรีแลนซ์ยังสามารถกู้ซื้อบ้านซื้อรถยนต์ได้ โดยไม่ถูกจำกัดเฉพาะสินเชื่อไม่มีประกันที่มีดอกเบี้ยสูงเท่านั้น ซึ่งเงื่อนไขสำคัญนอกจากเช็กลิสต์ 3 รายการข้างต้นแล้ว ปัจจัยที่จะช่วยให้โอกาสกู้ผ่านได้ นั่นคือ มีเงินดาวน์อย่างน้อย 10-20% ของราคาบ้านและรถยนต์ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ภาระการผ่อนต่อเดือนลดลง

นอกจากนี้ การเดินบัญชีที่แสดงเงินเข้าเฉลี่ยต่อเดือนยังควรมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 เท่าของค่างวด เพื่อช่วยให้การอนุมัติผ่านได้ง่ายขึ้น และอาจเสริมเพิ่มเติมความมั่นใจได้หากมีคนค้ำประกันหรือผู้กู้ร่วมที่มีประวัติทางการเงินและเครดิตดีเช่นกัน

ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย