แน่ใจหรือว่ารู้จักจริง? เปิดอินไซด์ การฮั้ว กับกฎหมายการแข่งขันทางการค้า

แน่ใจหรือว่ารู้จักจริง? เปิดอินไซด์ การฮั้ว กับกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ที่ ผปก. ควรรู้

ผู้ประกอบธุรกิจบางราย อาจมีพฤติกรรมการพูดคุยหรือตกลงราคาร่วมกัน โดยมองว่าเป็นเรื่องปกติที่เคยทำกันมาเป็นปกติ และไม่ทราบว่าเข้าข่าย การฮั้ว ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือมองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่คู่แข่งจะได้ไม่ต้องสู้ราคากัน แต่การกระทำนั้นอาจส่งผลเสียต่อการแข่งขันในตลาดและผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงกว่าปกติและเป็นการจำกัดทางเลือกซื้อสินค้า

และเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้าใจผลกระทบจากพฤติกรรมการฮั้วมากขึ้น สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ สขค. จะพาไปอินไซด์การฮั้วในรูปแบบต่างๆ พร้อมแนวทางการป้องกันไม่ให้เข้าข่ายกระทำความผิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้า รวมถึงเข้าใจเกี่ยวกับบทลงโทษที่มากขึ้น

สำหรับประเทศไทย แบ่งการฮั้วออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. การกระทำร่วมกันที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันอย่างร้ายแรง (Hardcore Cartels) ตามมาตรา 54 หรือการฮั้วแบบร้ายแรง เป็นการกระทำร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคู่แข่งในตลาดเดียวกัน เช่น บริษัท ก และบริษัท ข ต่างเป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันที่แข่งขันอยู่ในตลาดเดียวกัน และบริษัททั้ง 2 ได้ทำข้อตกลงร่วมกันในลักษณะดังนี้ ได้แก่

1.1) การฮั้วราคาหรือเงื่อนไขทางการค้า เช่น การกำหนดราคาเดียวกันหรือเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินหรือการรับประกัน

1.2) การฮั้วเพื่อจำกัดปริมาณ เช่น การร่วมกันกำหนดปริมาณในการผลิต ซื้อ หรือจำหน่ายสินค้าและการบริการของผู้ประกอบธุรกิจแต่ละราย

1.3) การฮั้วประมูล เช่น การร่วมกันกำหนดข้อตกลงหรือเงื่อนไขในลักษณะสมรู้กันเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้รับการประมูล หรือเพื่อไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเข้าแข่งขันราคาในการประมูลหรือประกวดราคาสินค้าหรือบริการนั้น

1.4) การฮั้วแบ่งตลาด เช่น การร่วมกันกำหนดแบ่งท้องที่ที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะจำหน่ายหรือลดการจำหน่ายในท้องที่นั้น รวมถึงการกำหนดคู่ค้าในการซื้อขายที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะจัดจำหน่ายหรือซื้อสินค้าหรือบริการได้เพื่อที่จะไม่ต้องแข่งขันกัน เป็นต้น

2. การกระทำร่วมกันที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน (Non-Hardcore Cartels) ตามมาตรา 55 หรือ การฮั้วแบบไม่ร้ายแรง เป็นการกระทำร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคู่แข่งในตลาดเดียวกัน (การร่วมกันในแนวราบ) หรืออยู่ในตลาดต่างระดับกันและไม่ได้เป็นคู่แข่งในตลาดเดียวกัน (การร่วมกันในแนวดิ่ง) ได้แก่

2.1) การฮั้วราคาหรือเงื่อนไขทางการค้า การฮั้วจำกัดปริมาณหรือการฮั้วแบ่งตลาดระหว่างผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่คู่แข่งกัน

2.2) การฮั้วเพื่อลดคุณภาพสินค้าหรือบริการ เช่น การร่วมกันลดคุณภาพของสินค้าหรือบริการให้ต่ำลงกว่าเดิม

2.3) การฮั้วเพื่อแต่งตั้งหรือมอบหมายบุคคลเดียวกันเป็นผู้จำหน่าย

2.4) การฮั้วเงื่อนไขหรือวิธีปฏิบัติทางการค้า

2.5) การฮั้วในลักษณะอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าประกาศกำหนด